นักกฎหมายแจง หลังร้านดังจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า "ปังชา" แต่จะห้ามใครทำ "บิงซู" หรือ "น้ำแข็งไส" ใส่ชาไทยไม่ได้
วันที่ 28 ส.ค.66 จากกรณี เฟซบุ๊กเพจ "Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant" ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า "ปังชา" น้ำแข็งไสยอดฮิตนั้น ตอนนี้ได้จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน
โดยแบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) "ปังชา" ภาษาไทย และ "Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534
- จดทะเบียนลิขสิทธิ์
- จดทะเบียนสิทธิบัตร
พร้อมระบุด้วยว่า สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข และสงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
ซึ่งหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น พร้อมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะที่นักกฎหมายอย่าง นายพีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและนักวางแผนการเงิน ได้โพสต์อธิบายเกี่ยวกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร ผ่านทางเฟซบุ๊ก "Dr. Pete Peerapat" ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดีนะครับที่ผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่ข้อมูลที่เอามาประชาสัมพันธ์ต่อ อาจจะไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง
เคสนี้จะมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ประเภท
- ลิขสิทธิ์ - เป็นการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งบ้านเราไม่มีระบบจดทะเบียน เข้าใจว่าเคสนี้เป็นการจดแจ้งประเภทงานจิตรกรรม
- สิทธิบัตร - เป็นการคุ้มครองเรื่องงานประดิษฐ์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเคสนี้มีผู้รู้บอกว่าเป็นการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ถ้วยใส่น้ำแข็งไส
- เครื่องหมายการค้า - เป็นการคุ้มครองแบรนด์ ซึ่งพวกคำว่า ชา ไม่สามารถจดได้อยู่แล้ว เพราะเป็นคำสามัญ เข้าใจว่าเขาจดคำรวมๆ แล้วสละสิทธิส่วนนั้นออก
...
สรุป เคสนี้ทางร้านมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า, สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์, จดแจ้งลิขสิทธิ์ จริง แต่จะไปห้ามใครทำ บิงซู หรือน้ำแข็งไส ใส่ชาไทย ไม่ได้นะครับ
จากการสอบถาม นายพีรภัทร ทราบว่า ตามกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร ร้านค้าไม่สามารถจดสูตรอาหารได้ ดังนั้น การทำบิงซู หรือ ปังราดชานมเย็น ไม่สามารถนำไปจดทะเบียนได้
แต่สูตรอาหาร อาจจะได้รับความคุ้มครองในเรื่องความลับทางการค้า ซึ่งไม่ต้องจดทะเบียน เช่น กรณีที่ลูกจ้างแอบขโมยสูตรออกไป แบบนี้ทางร้านก็สามารถเอาผิดได้
แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปมารับประทาน แล้วจดจำรสชาติกลับไปปรุงเอง แม้ว่าออกมารสชาติจะคล้ายกัน แบบนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดกับเค้าได้ ซึ่งกรณีของร้านที่ต้องการความคุ้มครองสูตรอาหาร คือ ต้องเก็บไว้เป็นความลับ
ในส่วนของชื่ออาหาร ถ้าจะจดเป็นเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะรับจดทะเบียนได้ ต้องเป็นกรณีที่ไม่ใช่ คำที่มีลักษณะสามัญของสินค้าหรือบริการนั้นๆ เช่น เราขายขนมปัง จะเอาคำว่า ปังอร่อย ปังปิ้ง ไปจดทะเบียนไม่ได้
กรณีของร้านที่จดคำว่า "ปังชา" ถ้าไปอ่านในสิ่งที่เค้าจดแล้ว เค้าจดแบบคำรวม ๆ แล้วสละสิทธิคำที่เป็นคำสามัญออก หมายความว่า คนอื่นยังเอาไปใช้ได้ เช่น ผมทำบิงซูชาเย็น ผมก็ขายด้วยคำว่า ปังบิงซูชาไทยเย็น แบบนี้ก็ได้ ไม่ผิดแต่อย่างใด.
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก Dr. Pete Peerapat, Lukkaithong - ลูกไก่ทอง Thai Royal Restaurant