24 สิงหาคม ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยกให้เป็น “วันแห่งความรักสุรา” ทุกปี เพื่อรำลึกถึง คุณโบคุสุอิ วาคายามะ นักกวีชื่อดังของญี่ปุ่นในสมัยเมจิ เขาเกิดวันที่ 24 สิงหาคม เป็นนักกวีที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวและหลงใหลการแต่งกวีเคล้าสุราเป็นอย่างยิ่ง ชมชอบการดื่มสุราไม่ต่างไปจากปีศาจสุรา “โกวเล้ง” นักเขียนนวนิยายกำลังภายในจีน แต่ทั้งคู่ก็เสียชีวิตจากการดื่มสุรามากเกินไป ใครที่ชื่นชอบนิยายกำลังภายในของโกวเล้ง คงจำประโยคนี้ได้ดี “ข้าพเจ้ามิได้นิยมชมชอบในรสชาติของสุรา แต่ข้าพเจ้าชอบบรรยากาศของการร่ำสุรา”

วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมเลยชวนท่านผู้อ่านไปคุยเรื่องเกี่ยวกับสุรากันสักวันนะครับ แต่เป็นสุราระดับไฮเอนด์ นั่นคือ แชมเปญ (Champagne)

มีข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ภาวะโลกร้อนปีนี้ นอกจากส่งผลให้เกิดภัยแล้งภัยพิบัติไปทั่วโลกแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตแชมเปญในภูมิภาคที่ผลิตแชมเปญของฝรั่งเศสอีกด้วย ทำให้รสชาติของแชมเปญเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องจากองุ่นได้รับรังสียูวีมากเกินไป ถูกแสงแดดที่ร้อนแรงแผดเผาจนเสียรสชาติ ส่งผลกระทบต่อรสชาติของแชมเปญ โดยเฉพาะ แชมเปญที่ผลิตในภูมิภาคของชองปาญของฝรั่งเศส แม้แต่ฤดูการเก็บเกี่ยวองุ่นเพื่อทำแชมเปญ ก็เปลี่ยนไปเป็นช่วงสิ้นเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนจากเดิมที่เคยเก็บเกี่ยวในช่วงสิ้นเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม ทำให้แชมเปญมีรสหวานมากขึ้น แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่อยากให้มีน้ำตาลในเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น

Champagne ก็คือไวน์ที่มีการใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปทำให้มีรสซ่า เวลาเทลงแก้วจะมีฟองฟู่ขึ้นมาให้ดูน่าดื่ม เหมือนกับ Sparking Wine แต่ไวน์ที่เรียกว่า “แชมเปญ” ได้จะต้องเป็นไวน์ที่มีแหล่งผลิตมาจาก “เขตชองปาญ” ในฝรั่งเศส และต้องใช้องุ่นเพียง 3 สายพันธุ์ คือ Point Noir, Point Meunier และ Chardonnay เท่านั้น

...

คุณทอม ฮิวสัน นักวิจารณ์แชมเปญ บอกว่า มีแชมเปญจำนวนมากที่ทำจากองุ่นที่สุกงอมมากขึ้น ทำให้ฟองแชมเปญมีความใกล้เคียงกับไวน์ขาวอื่นๆ แชมเปญบางยี่ห้อก็มีรสชาติที่ต่างไปจากเดิมที่เคยดื่มเมื่อหลายปีก่อน รายงาน S&P Global Sustainable ระบุว่า ภูมิภาคที่ผลิตแชมเปญของฝรั่งเศส เริ่มมีความเสี่ยงทางกายภาพมากขึ้น เนื่องจากภัยแล้งที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า ภายในทศวรรษ 2050 จากระดับ 16 คะแนนเป็น 43 คะแนน และอาจเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 88 คะแนน ในทศวรรษที่ 2090 ถ้าสภาพอากาศในปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง

ช่วงหลายปีนี้มีผู้ผลิตแชมเปญชื่อดังในฝรั่งเศสไปลงทุนปลูกองุ่นที่สหราชอาณาจักรและผลิตเป็น Sparking Wine แทน แต่ยังรักษาความแตกต่างในการผลิตแชมเปญที่ฝรั่งเศสเอาไว้ แต่ผู้ผลิตแชมเปญชื่อดัง (เขียนชื่อแชมเปญไม่ได้ผิดกฎหมายไทย) ยังคงปักหลักอยู่ในเขตชองปาญที่เป็นเขตผลิตแชมเปญในฝรั่งเศส ในอนาคตอาจจะมีการผลิตแชมเปญจากที่อื่นและองุ่นพันธุ์อื่น ที่แตกต่างไปจาก “คำจำกัดความแชมเปญ” ของฝรั่งเศสในปัจจุบันก็ได้

จากข้อมูลของ สมาคมการค้าแชมเปญ ระบุว่า ปี 2565 มียอดขายแชมเปญสูงถึง 325.5 ล้านขวด คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,300 ล้านยูโร กว่า 24,000 ล้านบาท ประเทศที่มีการนำเข้าแชมเปญมากที่สุดในโลกก็คือ สหรัฐฯ กว่า 34 ล้านขวด รองมาเป็น อังกฤษ 30 ล้านขวด ญี่ปุ่น 14 ล้านขวด เดนมาร์ก 11 ล้านขวด เบลเยียม 10 ล้านขวด ประเทศไทยแม้จะไม่มีสถิติ แต่คนไทยก็หันมาดื่มแชมเปญและสปาร์คกลิ้งไวน์กันมากขึ้น โดยเฉพาะ แชมเปญราคาแพงเศรษฐีไทยซื้อมาดื่มกันมากไม่แพ้ชาติใดในโลก รวมทั้งไวน์แดงในตระกูล 10 อรหันต์ด้วย

ผมก็ชอบดื่ม Champagne บางครั้งก็ดื่ม Sparking Wine ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่นดี แอลกอฮอล์เบาๆเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารมื้อค่ำได้เป็นอย่างดี

เมืองร้อนแบบไทยผมว่าดื่ม Sparking Wine ง่ายที่สุด ราคาไม่แพงขวดละไม่กี่ร้อยมีให้เลือกเยอะ แช่เย็นๆ ดื่มสักแก้วสองแก้วก่อนอาหารค่ำ สดชื่นดีนักแล.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม