อ.เจษฎา เทียบ "เบอร์เกอร์ชีส VS ส้มตำปูปลาร้า" ใครโซเดียมโหดกว่ากัน" เตือนคนอย่ากินกันบ่อย หรือลดระดับความเค็มลง 

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง "เบอร์เกอร์ชีส VS ส้มตำปูปลาร้า ใครโซเดียมโหดกว่ากัน

ช่วงนี้กำลังเป็นกระแส ถึงเมนูใหม่ ที่มีจริงๆ กับเมนู Burger Cheese แฮมเบอร์เกอร์ที่ไม่ใส่ผัก ไม่ใส่เนื้อ ใส่แต่ชีส และจัดมาถึง 20 แผ่นในก้อนเดียว เมนูนี้คงจะถูกใจคนรัก "ชีส" แน่ๆ แต่ก็มีหลายท่านออกมาเตือนด้วยความเป็นห่วงเรื่องของการกิน "โซเดียม" มากเกินไปจากเมนูใหม่นี้ 

อย่าลืมว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เรากินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม (ประมาณเกลือ 1 ช้อนชา) ขณะที่อาหารที่เรากินนั้น มักจะมีโซเดียมซ่อนอยู่ในวัตถุดิบอยู่แล้ว และก็มีโซเดียมจากเครื่องปรุงที่เราใส่เพิ่มเข้าไปอีก และถ้าหากกินโซเดียมมากเกินไป ก็จะมีผลเสียต่อการทำงานของไต ของหัวใจ และทำให้ระดับความดันโลหิตสูงได้ 

ทีนี้ จากข้อมูลของเพจ "Fit happens by Coach Ping" บอกว่า เชดด้าชีส Cheddar Cheese ที่ใส่ในเบอร์เกอร์นั้น แผ่นนึงน้ำหนักประมาณ 21 g และอาจจะมีโซเดียมสูง 190-320 มิลลิกรัม ขึ้นกับยี่ห้อ

แปลว่า เบอร์เกอร์ชีสหนึ่งก้อน ที่ใส่เชดด้าชีสไป 20 แผ่น ก็อาจจะให้โซเดียมได้ถึง 3,000 มิลลิกรัม เป็นอย่างน้อย (อันนี้ยังไม่รวมโซเดียมที่อยู่ในขนมปังด้วยนะ) กินเข้าไปหนึ่งก้อนนี่ ได้โซเดียมเทียบเท่ากับที่ไม่ควรกินเกินทั้งวันแล้ว 

...

ยิ่งกินน้ำอัดลมด้วย หรือเพิ่มเฟรนช์ฟรายส์ด้วย แถมซอสจิ้มปรุงแต่งรสด้วย ปริมาณโซเดียมพุ่งเกินคำเตือนองค์การอนามัยโลกไปเยอะเลย เรียกได้ว่า มื้อเดียว ไม่ต้องกินอะไรอย่างอื่นแล้ว หึๆ

แต่ๆๆ ในอาหารไทย ที่คนไทยเราเองบริโภคกันอยู่เป็นประจำนั้น  ก็มีปริมาณของโซเดียมหนักหนาสาหัสไม่น้อยครับ เพราะคนไทยชอบใส่เครื่องปรุงที่มีรสเค็มเยอะกันอยู่แล้ว ทั้งเกลือ น้ำปลา กะปิ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว น้ำบูดู น้ำปลาร้า ปลาเจ่า เต้าหู้ยี้ ผงชูรส ซอสหอยนางรม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริก น้ำจิ้ม ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น ได้ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่อยู่ใน "ส้มตำปูปลาร้า" ซึ่งสถาบันอาหาร ร่วมกับไทยรัฐ ได้เคยสุ่มเก็บตัวอย่าง ในปี พ.ศ. 2564 พบว่า ผลปรากฏว่า ในตัวอย่างส้มตำปู ปลาร้า หนัก 1 ขีด (100 กรัม) พบโซเดียมในปริมาณมากถึง 702.63-1,622.59 มิลลิกรัม 

แปลว่า ถ้าไปกินส้มตำปูปลาร้า ร้านแซ่บๆ รสจัดๆ จานนึง (ตีน้ำหนักให้จานละ 100-150 กรัม) ก็อาจจะได้รับปริมาณโซเดียมสูงถึง 2000 มิลลิกรัมแล้ว แตะระดับที่ไม่ควรกินเกินต่อหนึ่งวัน และตามเบอร์เกอร์ชีสมาติดๆ เลยนะครับ (แถม ส้มตำนี่ กินกันได้ทุกวันด้วย ส่วนเบอร์เกอร์ชีส คงกินกันนานๆ ครั้ง ไม่มีใครกินทุกวันมั้ง)

ดังนั้น ท่านที่เป็นแฟนๆ ของทั้งเบอร์เกอร์ชีส และส้มตำปูปลาร้า ตลอดไปจนถึงอาหารอื่นๆ ที่มีโซเดียมสูง ก็ขอให้เพลาๆ ลงนะครับ อย่ากินกันบ่อยนัก หรือลดระดับความเค็มลง เพราะเรายังกินอาหารอื่นๆ ที่ก็มีโซเดียมเจือปนอยู่ด้วย ในแต่ละมื้อ แต่ละวันครับ.