การหลั่งไหลของทุนจีนเข้ามา “ลงทุนทำธุรกิจสีเทาในประเทศไทย” เป็นเรื่องถูกซุกอยู่ใต้พรมมาช้านาน นับวันยิ่งเหิมเกริมก่อคดีสะท้อนขวัญถี่มากขึ้น ทั้งอุ้มเรียกค่าไถ่ หรืออุ้มฆ่าคนจีนด้วยกัน
อย่างกรณี “หนุ่มชาวจีน 3 คน สมคบกับสาวไทย” ก่อเหตุอุ้มเรียกค่าไถ่ไม่สมหวังตามข้อเรียกร้องเลย “ฆ่าสาวชาวจีนยัดถุงทิ้งศพในพื้นที่ จ.นนทบุรี” ก่อนถูกจับกุมในเวลาต่อมา แล้วล่าสุดคนไทยร่วมกับคนจีนรวม 11 คน ก่อเหตุอุ้มคนจีนเรียกค่าไถ่ 1.8 ล้านบาท ย่านบางโพงพาง และตำรวจสามารถจับคนร้ายได้บางส่วน
เรื่องนี้กลายเป็น “ปัญหาใหญ่ภัยคุกคามต่อความไม่ปลอดภัยในประเทศอยู่ขณะนี้” แล้วกำลังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเมืองไทยจน “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)” ต้องจัดแถววางแนวทางป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้วยการทบทวน Visa on Arrival ที่อนุญาตให้คนจีนสามารถขอทำที่สนามบินปลายทางได้นั้นใหม่
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต บอกว่า นับตั้งแต่ประมาณ 5-6 ปีก่อนหน้านี้ “คนจีนรุ่นใหม่” เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแล้วบางส่วนก็เห็นลู่ทางหาผลประโยชน์กับคนจีนด้วยกัน
...
อย่างเช่นกรณี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” เน้นขายแพ็กเกจทัวร์ต่ำแล้วส่งกรุ๊ปทัวร์ให้เครือข่ายทัวร์จีนในไทยพาท่องเที่ยวร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกราคาสูง ทำให้คนจีนบางส่วนเห็นช่องทางสร้างอิทธิพลในเมืองท่องเที่ยว ก่อนขยายธุรกิจเป็นเจ้าของโรงแรม สถานบันเทิง บ่อนพนัน นำมาซึ่งแก๊งชาวจีนก่ออาชญากรรมในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “รัฐบาลจีน” ประกาศนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างจริงจัง “ทำให้ข้าราชการหลายระดับ และประชาชนที่ทำการทุจริตคอร์รัปชันนั้น” ต้องถูกดำเนินคดีลงโทษขั้นเด็ดขาดตามกฎหมาย มีทั้งการลงโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือลงโทษประหารชีวิต
กลายเป็นว่า “กลุ่มธุรกิจสีเทาบางส่วน” แตกกระเจิงออกนอกประเทศเข้ามาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วในช่วงนั้น “ประเทศไทย” มีนโยบายอนุญาตให้คนจีนขอวีซ่าปลายทางเพื่อการท่องเที่ยวไม่เกิน 15 วัน (Visa on Arrival) โดยไม่ต้องทำวีซ่าล่วงหน้าแต่ทำวีซ่าเมื่อถึงไทยได้ อันเป็นนโยบายเปิดประเทศเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ตรงนี้เลยเป็นช่องทางให้ “คนจีนเข้ามากันง่ายมากยิ่งขึ้น” แล้วปัญหาว่าประเทศไทยกลับไม่มีระบบรองรับฐานข้อมูลอินเตอร์โพล “อันเกี่ยวกับบุคคลอันตรายมีหมายตามตัวระหว่างประเทศ หรือกลุ่มอาชญากรข้ามชาติ” อีกทั้งยังไม่มีแผนรับมือด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะด้วยซ้ำ
หนำซ้ำแล้ว “บทลงโทษผู้กระทำผิดคดีอาญาในไทยก็ค่อนข้างเบาถ้าเทียบกับการกระทำผิดในประเทศจีนที่มีโทษสูงรุนแรง” สิ่งนี้เป็นเสมือนการเปิดประตูให้คนจีนหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากนำไปสู่ “การสร้างเครือข่ายอิทธิพล” ทำธุรกิจมืดอย่างการพนันออนไลน์ กลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งลูกหมูกันมากมาย
ประเด็นสำคัญคือ “เจ้าหน้าที่รัฐไทยบางส่วนกลับรู้เห็นเป็นใจ” ด้วยการอาศัยช่องโหว่ระเบียบกฎข้อบังคับเอื้อประโยชน์ให้แก่ “ทุนจีนสีเทา” ทำให้คนเหล่านี้ไม่เกรงกลัวกฎหมายกระทำความผิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างกรณี “ตู้ห่าว” นักธุรกิจชาวจีนได้สัญชาติไทย ด้วยการอาศัยช่องโหว่กฎหมายแต่งงานกับคนไทยเป็นนอมินี
เพื่อให้ตัวเองสามารถอยู่ในไทยต่อได้ “แล้วสร้างเครือข่ายทำตนเป็นมาเฟียก่อเหตุทำร้าย รปภ.บริษัทคู่แข่งธุรกิจใน จ.ภูเก็ตจนพิการ” จากนั้นก็มีคลิปประกาศว่า “คนมีเงินสามารถซื้อได้ทุกอย่าง” สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า “ทุนจีนสีเทาไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายไทยแม้แต่น้อย” เพราะคิดว่าใช้เงินซื้อไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้
ในเรื่องนี้แม้แต่ สตช.ก็เคยออกมายอมรับว่า “ตำรวจบางนาย” มีส่วนเรียกรับผลประโยชน์จริง เช่น กรณีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอนุญาตให้คนจีนอาศัยอยู่ในไทยต่อ “โดยไม่เป็นไปตามระเบียบ” เพื่อให้คนจีนหากินในประเทศได้จนตั้งขบวนการผิดกฎหมาย “ผลสุดท้ายตำรวจหลายนาย” ก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ตอกย้ำด้วย “งานวิจัยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ” ระบุองค์กรตำรวจถูกแทรกแซงจนสามารถสั่งการได้ตั้งแต่ต้นทางจากผู้บังคับบัญชา หรือองค์กรภายนอก เช่น คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถชนตำรวจเสียชีวิต
ช่องโหว่ต่อมา “รูปแบบองค์กรอาชญากรข้ามชาตินั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น” แต่ว่าตำรวจไทยกลับไม่มีความเชี่ยวชาญการรับมือกับปัญหานี้ เพราะพนักงานสอบสวนมักถูกโยกย้ายสลับสายงานกันไปมาอยู่บ่อยๆ
ดังนั้น อนาคตต้องพัฒนาทักษะ “พนักงานสอบสวน” เพื่อให้สามารถรวบรวมพยานหลักฐานเชื่อมโยงไปสู่ “องค์กรอาชญากรข้ามชาติ” เพราะมิเช่นนั้นอาจทำสำนวนคดีไม่รัดกุม กลายเป็นช่องว่างให้ผู้กระทำความผิดสามารถจ้างทนายมีความรู้เชี่ยวชาญด้านนี้ “หาข้อต่อสู้ในชั้นศาล” ทำให้หลุดพ้นจากการถูกลงโทษได้
ถ้าเปรียบเทียบ “ต่างประเทศ” มักตั้งฝ่ายเฝ้าติดตามการก่ออาชญากรรมของชาวต่างชาติโดยตรง เช่น คนจีนทำผิดในไทยมากก็จะตั้งหน่วยงานเกาะติดเฝ้าระวังกลุ่มคนจีนเฉพาะ ในระดับจังหวัดเชื่อมโยงส่วนกลาง
ถัดมา “บทลงโทษกฎหมายไทยเบาหรือไม่” เรื่องนี้แยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก... “การบังคับใช้กฎหมาย” ตำรวจเป็นผู้กำกับให้ประชาชนทำตามกฎหมาย แต่มักถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชา หรือคนภายนอก
เช่นเดียวกับส่วนที่สอง... “กระบวนการยุติธรรม” เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้ “อัยการ” อาจมีช่องโหว่ประวิงเวลา เช่น คดีนักการเมืองขอให้ถอนหมายจับ อันเป็นการแทรกแซงทำลายกระบวนการยุติธรรมชัดเจน
โชคดีว่า “โลกสื่อสังคมออนไลน์ถูกเชื่อมโยงข้อมูลกระจายออกไปสู่สาธารณชนได้รวดเร็ว” ทำให้แชร์ข้อมูลไม่โปร่งใสตรวจสอบกันเข้มข้นขึ้น ฉะนั้นบุคคลใดกระทำผิดมักถูกเผยแพร่ให้เกิดการรับรู้ได้ดีกว่าอดีต
ในอนาคต “หากไม่ต้องให้ประเทศไทยเป็นสวรรค์การก่ออาชญากรรมของต่างชาติ” แนะนำอย่างนี้ว่า “นโยบายด้านการท่องเที่ยว” ควรต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ “ความปลอดภัยสาธารณะ” มุ่งเน้นให้ความสำคัญตรวจสอบติดตาม “เครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ หรือกลุ่มมาเฟียคนจีน” เข้มข้นมากกว่าที่เป็นอยู่นี้
นอกจากนี้ยังต้องมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น กรณีคดีแก๊งอุ้มเรียกค่าไถ่ฆ่านักศึกษาสาวชาวจีนอำพรางคดี ตามประวัติผู้ต้องหาชาวจีน 3 คนปรากฏพบ “เคยก่อเหตุคดีในจีนมาก่อน” แต่ว่าประเทศไทยกลับไม่มีข้อมูลนี้ปลอดให้เข้ามาได้โดยง่าย
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนข้อมูล “อินเตอร์โพล” มีความสำคัญกับสถานการณ์การก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ แล้วยิ่งกว่านั้น “นโยบายภาครัฐ” ต้องมีความชัดเจนในการจัดการจริงจังเด็ดขาดกับ “เจ้าหน้าที่ คนไทย หรือคนจีนกระทำการทุจริตคอร์รัปชัน” เพื่อนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดนั้น
โดยเปิดกลไกช่องทางแจ้งเบาะแสจาก “ภาคประชาชน” ที่ต้องให้ความสำคัญทุกเบาะแสเหมือนกับ “ญี่ปุ่นประชากร 128 ล้านคน” แต่มีตำรวจดูแล 3 แสนนาย สามารถจัดการอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อประชาชนมีการแจ้งเบาะแส “ตำรวจ” มักให้ความสำคัญเดินทางเข้ามาตรวจสอบทันทีทุกกรณี
สำหรับประเทศไทยแล้ว “ยกตัวอย่างตัวเองเคยส่งข้อมูลเบาะแสให้โรงพักแห่งหนึ่ง” ปรากฏว่าหลายเดือนผ่านไปจนวันนี้ไม่มีการตอบรับเลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น ต้องให้ความสำคัญกับทุกเบาะแสที่ประชาชนแจ้งไปนั้น
“แน่นอนว่าต่างชาติก่อคดีอุ้มฆ่าเรียกค่าไถ่ในไทย ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ถ้าไม่ปรับโครงสร้างให้รองรับกับคนร้ายที่แฝงตัวในคราบนักท่องเที่ยวเข้ามาก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้นจะทำให้ต่างชาติที่เดินทางมารู้สึกไม่ปลอดภัยกลายเป็นหันไปท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านแทนก็ได้” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ว่า
สุดท้ายฝากถึง “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล” เร่งกวาดล้างเครือข่ายธุรกิจสีเทาต่างชาติเข้ามาสร้างอิทธิพล “ยกตนขึ้นเป็นมาเฟีย” ก่อคดีอุ้มเรียกค่าไถ่เย้ยกฎหมายไทย “ทำลายความปลอดภัยในประเทศ” ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์กันไปมากกว่านี้.