จดหมายเปิดผนึก ของมูลนิธิกระจกเงา ถึงว่าที่นายกฯ คนที่ 30 และรัฐบาลชุดใหม่ เผยเหตุผล ให้มีตัวแทนคนพิการในสภา ทำงานเพื่อแก้ปัญหาคนพิการ
วันที่ 31 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิกระจกเงา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม ได้โพสต์ข้อความ จดหมายเปิดผนึก ถึงว่าที่นายกฯ คนที่ 30 และรัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทย จาก : โครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา เรียกร้องให้มีตัวแทนคนพิการในสภา ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อแก้ปัญหาคนพิการ
ระบุว่า “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” ช่วงเวลาที่หลายคนรอคอยที่จะได้สัมผัสกับความหวัง ความฝัน และความศรัทธาที่พัดผ่านมาพร้อมกับสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ซึ่งรวมถึงเรา “คนพิการ”
โครงการกาลพลิก มีความหมายว่า “ถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของคนพิการ” ทีมงานของพวกเราเป็นคนพิการแต่กำเนิด ที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านคนพิการ ไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ที่ผ่านมาคนพิการถูกปฏิบัติจากรัฐหรือกลุ่มผู้ที่มีอำนาจในการบริหารเหมือนดั่งเป็นเพียงไม้ประดับที่จะหนุนเสริมอำนาจ และคุณค่าในการมีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น จนอาจหลงลืมไปว่า คนพิการก็มีชีวิตจิตใจ มีความฝัน และมีความต้องการที่จะมีชีวิตที่มั่นคง เช่นเดียวกันคนทั่วไป ซึ่งเราขอยกตัวอย่างปัญหาเชิงประจักษ์ให้ท่านพิจารณาดังนี้
#ค่าครองชีพที่กดทับจนขยับไม่ได้ ในขณะที่คนทั่วไป มีเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 15,000 บาท ล่าสุดการหาเสียงของพรรคการเมืองที่อยู่ในฟากฝั่งจัดตั้งรัฐบาลชูนโยบาย เงินเดือนวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้น 25,000 บาท ในขณะที่ คนพิการได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ เพียง 9,000 บาท กับเบี้ยคนพิการ 800 บาท เมื่อเทียบกับสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตของคนพิการที่มากกว่า ทั้งการดูแลสุขอนามัย และการเดินทาง ก็คงพอจะเห็นภาพแล้วว่า คนพิการต้องดิ้นรนใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในบริบทของสังคมที่กดดันและภาวะเศรษฐกิจที่บีบรัด
#บริการขนส่งสาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ออกแบบมาเพื่อคนพิการแต่ยังใช้ไม่ได้จริง ไม่ว่าจะเป็น ระบบขนส่งที่คนพิการเข้าใช้บริหารได้ยาก การทำทางลาดที่สูงเกินไป ทางเท้า และ Braille Block ที่ผู้ใช้วีลแชร์ และคนตาบอดใช้งานไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากผู้บริหารและรัฐบาลที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อทุกคนโดยแท้จริง
#ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สู่ปัญหาการกดขี่ค่าแรงของคนพิการ แม้ว่าในปัจจุบัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดไว้ว่าคนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ตามความเหมาะสมและความต้องการ แต่ปัญหาสำคัญคือ การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้นมากพอ คนพิการยังถูกเพิกเฉยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายโรงเรียนทั่วประเทศ ปฏิเสธการรับคนพิการเข้าศึกษาร่วมกับนักเรียนทั่วไป โดยให้เหตุผลว่า สิ่งอำนวยความสะดวกและบุคลากรไม่พร้อมต่อการรับคนพิการ เหมือนการผลักไสคนพิการให้ไปอยู่เพียงในพื้นที่ของคนพิการเท่านั้น ทั้งที่การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ส่งผลในระยะยาวกับคุณภาพชีวิต ในการเข้าถึงงาน เข้าถึงอนาคตที่ดี และนับว่าเป็นการขับเบียดคนพิการออกจากการเป็นหนึ่งในประชากรที่มีศักยภาพของประเทศอีกด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาในชีวิตของคนพิการ ที่ถูกบริหารและกำหนดโดยกลุ่มคนที่ไม่เข้าใจคนพิการโดยแท้จริง แต่ ณ เวลานี้ การจัดตั้งรัฐบาลใกล้เข้ามาทุกที ความหวังของคนพิการเริ่มจุดประกายขึ้นมาอีกครั้งเช่นกัน ว่าคนพิการจะไม่ถูกทิ้งให้อยู่ข้างหลัง จะไม่ต้องเป็นเพียงไม้ประดับให้ความความชอบธรรมของภาครัฐ และจะได้ร่วมอยู่ในสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
หากสาเหตุอยู่ตรงที่การบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาคนพิการนั้น เกิดจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนพิการ และไม่เข้าใจคนพิการอย่างแท้จริง โครงการกาลพลิก มูลนิธิกระจกเงาขอเรียกร้องให้มีคนพิการ หรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญประเด็นคนพิการ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งปฏิบัติงานในรัฐสภาหรือปฏิบัติงานในตำแหน่งที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาคนพิการได้โดยแท้จริง อันจะสามารถตอบสนองต่อ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 (4) ว่าด้วยการยอมรับและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ตลอดจนได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับคนพิการ ได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.
และเรายินดีเป็นอย่างยิ่ง หากท่านต้องการให้ กาลพลิก มูลนิธิกระจกเงา ล้อมวงนั่งคุย ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด มุมมองจากประสบการณ์ที่เรามีเพิ่มเติม เพื่อคนพิการจะมีคุณภาพชีวิต สิทธิทางการศึกษา มีโอกาสพัฒนาตนเอง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง
...
ที่มาจาก มูลนิธิกระจกเงา