"อธิบดีกรมการแพทย์" เผยสาเหตุ "โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ" เกิดจากอะไร พบบ่อยบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือ พร้อมแนะมีวิธีรักษายังไงบ้าง 

วันที่ 23 พ.ค. 2566 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ หรือโรคเดอกาแวง (de Quervain’s Stenosing Tenosynovitis) เป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อมือบริเวณฝั่งนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะในขณะทำงานที่ต้องกำมือหรือขยับข้อมือ ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ป่วย อายุประมาณ 30-50 ปี โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็น มากกว่าผู้ชาย ประมาณ 8-10 เท่า ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อมือ บริเวณโคนนิ้วหัวแม่มือซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด โดยมักจะมีอาการในช่วงกลางคืน

ส่วนสาเหตุที่แท้ของ โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่พบว่ามี ความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ได้แก่ การใช้งานข้อมือที่มากเกินไป อุบัติเหตุ หญิงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือเกิดจากภาวะการอักเสบด้วย สาเหตุอื่นๆ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์

ทางด้าน นายแพทย์อดิศักดิ์ งามขจรวิวัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคนี้สามารถให้การวินิจฉัยจากอาการ ตำแหน่งที่ปวด และจากการตรวจร่างกาย โดย แพทย์อาจใช้การตรวจ ฟินเคิลสไตน์ โดยจะทำการบิดข้อมือ ของผู้ป่วยไปทางด้านนิ้วก้อย ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ จะมีอาการปวดข้อมือฝั่งนิ้วหัวแม่มือมากขึ้น การตรวจวินิจฉัยทางรังสี อื่นๆ ไม่มีความจำเป็นหากแพทย์ไม่ได้สงสัย ภาวะอื่นๆ

ขณะที่ นายแพทย์ปิยบุตร กิตติธรรมวงศ์ ศัลยแพทย์หน่วยศัลยกรรมรยางค์ส่วนบนและจุลศัลยกรรม สถาบันออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบมีทั้ง การรักษาโดยไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยทั่วไปแพทย์จะเริ่มต้น การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน โดยหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมือในท่าซ้ำๆ หรือใส่อุปกรณ์ดามข้อมือและนิ้วโป้ง เพื่อลดการเคลื่อนไหว รับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ ในบางรายที่มีอาการรุนแรง หรือไม่ตอบสนอง

...

อย่างไรก็ตาม ต่อจากวิธีข้างต้น แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในปลอกหุ้มเส้นเอ็นเพื่อลดการอักเสบ โดยทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง การรักษาด้วยการผ่าตัด มีจุดประสงค์ที่จะเปิดปลอกหุ้มเอ็นออก เพื่อลดการเบียดรัดเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็น แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วย รับการรักษาโดยวิธีอื่น แล้วอาการไม่ดีขึ้น.