"กรมสรรพากร" ออกหนังสือชี้แจง ไม่ได้เก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เพียงแค่รับฟังความเห็น หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทำโซเชียลคอมเมนต์ลั่น เหมือนเป็นการทำงานที่ขับเคลื่อนตามแรงด่า

วันที่ 8 พฤษภาคม 2566 จากกรณีที่มีรายงานว่า กรมสรรพากร เตรียมจะเก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หรือภาษีเที่ยวต่างประเทศ โดยเก็บครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน และคนละ 500 บาท เมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ หรือเรือ จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในโลกออนไลน์

ล่าสุด กรมสรรพากร ได้ออกหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าว กรณีกรมสรรพากรเตรียมจะเก็บภาษีเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยเก็บครั้งละ 1,000 บาทต่อคน สำหรับการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารไปต่างประเทศ และคนละ 500 บาท เมื่อเดินทางด้วยรถยนต์ หรือเรือ อันเนื่องมาจากการที่กรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อพระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ระหว่างวันที่ 3-17 พฤษภาคม พ.ศ.2566 นั้น

นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2526 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในเรื่องเกี่ยวกับการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย อันเป็นการตรวจสอบความเหมาะสมของเนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวในด้านต่างๆ เท่านั้น

...

ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2564 ที่ได้รับทราบและเห็นชอบการดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์ การจัดทำร่างกฎหมาย และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ไม่ได้เป็นการเตรียมการที่จะจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด

ถึงแม้กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2534 (อ้างอิง กฎกระทรวงเพื่อยกเว้นภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร) พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 กำหนดให้กรมสรรพากรยังคงมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการประเมินผสสัมฤทธิ์ของกฎหมายโดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในระบบกลางตาม มาตรา 35 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว

โฆษกกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในปี พ.ศ.2567 กรมสรรพากรต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายอีก 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก

อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ต่างมีคนเข้าไปแสดงความคิดเห็นที่โพสต์เฟซบุ๊กของกรมสรรพากร ซึ่งส่วนใหญ่ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีดังกล่าว อาทิ ภาษีสนามบินก็มีแล้ว เก็บซ้ำซ้อน ไม่เห็นด้วยที่มีการเก็บภาษีเพิ่ม, ผลักภาระให้ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องเอกสารและภาษีที่เพิ่มมากขึ้นอีก, ถ้ามีการเก็บจริง เดือดร้อนทั้งผู้โดยสาร และผู้ประกอบการ, แค่คิด ก็ไม่สมควรแล้ว, เหมือนทำแบบโยนหินถามทาง, ทำงานขับเคลื่อนตามแรงด่า ฯลฯ

ทั้งนี้บางส่วนยังกล่าวอีกว่า คนออกนอกประเทศไม่ใช่คนที่ออกไปเที่ยวอย่างเดียว แล้วคนที่จำเป็นต้องไปรักษาตัวต่างประเทศ ต้องเดินทางบ่อย.

ขอบคุณข้อมุลจาก เฟซบุ๊ก กรมสรรพากร : The Revenue Department