จากกรณีกระแสข่าวความเดือดร้อนของสหกรณ์การเกษตรที่เข้าร่วมโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร (ASPL) ตามมติ ครม. 23 พ.ย.2542 เมื่อ 23 ปีล่วงมาแล้ว
ที่ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดสรรเงินอุดหนุนจ่ายขาดให้สถาบันเกษตรกร นำไปก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โรงสี ไซโล ลานตาก ฉาง ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงงานผลิตนมพาสเจอไรซ์ โรงงานผลิตอาหารโคนม โกดังเก็บอาหารโคนม โรงตากยางแผ่นดิบ/ยางเครป โรงยางแผ่นรมควัน โรงงานผลิตยางแห้ง โรงสกัดน้ำมันปาล์ม ฯลฯ
โดยกำหนดเงื่อนไขให้สหกรณ์จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์อุปกรณ์ โอนเข้าบัญชีกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสนับ สนุนให้แก่สหกรณ์อื่นในปีต่อๆไป
ข้อมูลสรุปโครงการ ณ 31 มีนาคม 2566 มีสหกรณ์ร่วมโครงการได้ชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมได้ตามข้อกำหนด 152 แห่ง...มีสหกรณ์ที่ค้างชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียม 39 แห่ง เป็นเงิน 381.529 ล้านบาท
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ชี้แจงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีมาตรการผ่อนผัน ให้ความช่วยเหลือสหกรณ์เข้าร่วมโครงการ เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องการไม่สามารถส่งชำระเงินคืนได้ตามกำหนด มีการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงตารางการชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ที่แจ้งความประสงค์ ขณะนี้ กพส.ได้บันทึกลูกหนี้ ASPL ทั้งเข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุนฯ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระจึงต้องดำเนินการตามระเบียบที่ กพส. กำหนด
หากสหกรณ์ใดติดขัดปัญหาเรื่องการส่งชำระเงินค่าธรรมเนียมการใช้อุปกรณ์ สามารถประสานงานผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่เพื่อขอผ่อนผัน กรมจะมีมาตรการในการช่วยเหลือ ช่วยวางแผนในการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ เพื่อต่อยอดธุรกิจรวบรวมและแปรรูปผลผลิตการเกษตรให้กับสหกรณ์การเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
...
ไม่รู้คำชี้แจงจะตรงกับความเดือดร้อนมั้ย เพราะปัญหาหลักของสหกรณ์ที่มีปัญหามาจากอุปกรณ์ที่ได้มา ตกรุ่นยากจะซ่อมได้แล้วจะไม่ให้ เป็นภาระสหกรณ์ได้ยังไง...คนคิดทำโครงการ กล้าๆออกมาหน่อย.
สะ–เล–เต