- รู้จักการใช้ "เกล็ดเลือดเข้มข้น" ทางเลือกใหม่บรรเทา "อาการปวด"
- ใครบ้าง ไม่เหมาะกับการบรรเทาอาการปวดด้วย "เกล็ดเลือดเข้มข้น"
- ปัญหา "เอ็นข้อไหล่" แนวโน้มโรคยอดฮิตคนเมือง มีคนไข้ปวดเรื้อรังจากปัญหาเอ็นข้อไหล่เป็นจำนวนมาก
เมื่อพูดถึง "อาการปวด" ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเผชิญ หากเกิดอาการปวดแล้ว ก็อยากจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้หายปวดโดยเร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการกินยาแก้ปวด หรือแนวทางการแพทย์ทางเลือกต่างๆ เช่น ฝังเข็ม, นวด, ใช้คลื่นความถี่, คลื่นไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะที่ คลินิกระงับปวด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีแนวทางบำบัดรักษาอาการปวดแบบใหม่ที่ได้มาจาก "เกล็ดเลือด" ของ "ผู้ปวด" โดยการฉีดเกล็ดเลือดฟื้นฟูเอ็นข้อหัวไหล่เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาคนไข้ที่เราทำมากว่า 5 ปีแล้ว แนวทางนี้ช่วยลดผลข้างเคียงของยากลุ่มแก้ปวดได้และมีความปลอดภัยสูงมาก เพราะเป็นการเอาเกล็ดเลือดและพลาสมาของคนไข้เองออกมาแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นซ่อมแซมตัวเอง
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) นายแพทย์มาร์วิน เทพโสพรรณ แพทย์ประจำคลินิกระงับปวด ฝ่ายวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เผยว่า วิธีการบรรเทาอาการปวดด้วยเกล็ดเลือด วิทยาการนี้เป็นงานวิจัยที่คลินิกระงับปวดร่วมมือกับหน่วยการกีฬาของโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อศึกษาการดูแลความปวดให้กับผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน การเล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดท่า ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อและเอ็นฉีกขาด
สำหรับบางรายต้องรักษาด้วยการผ่าตัด บางรายรักษาไม่หายขาด พัฒนาไปสู่อาการปวดเรื้อรังตลอดชีวิต ในการศึกษานี้ เราเปรียบเทียบการรักษาโดยทำ MRI ที่หัวไหล่ของคนไข้ที่ได้รับการฉีดเกล็ดเลือดไปแล้ว 6 เดือน กับคนไข้ที่ไม่ได้ใช้วิธีการฉีดเกล็ดเลือดในการรักษาเอ็นหัวไหล่ฉีกขาด ซึ่งเราพบว่าการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าไปในเอ็นข้อไหล่ ช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญภายใน 1-2 เดือน และยังช่วยซ่อมแซมรอยฉีกขาด ทำให้เอ็นข้อไหล่ติดกันได้ดีขึ้นด้วย ขนาดแผลที่ฉีกขาดก็ลดขนาดลง ทำให้คนไข้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการปวดเรื้อรัง เลี่ยงการผ่าตัด ลดความเสี่ยงจากกินยาแก้ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน
...
เกล็ดเลือดเข้มข้น ทางเลือกใหม่บรรเทาปวด
นายแพทย์มาร์วิน เผยต่อว่า แนวทางที่ใช้ในการรักษาอาการปวดโดยทั่วไปในปัจจุบันว่าแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การใช้ยา และ การไม่ใช้ยา ดังนี้
1. การรักษาอาการปวดโดยการใช้ยา ยาแก้ปวดมาตรฐานที่นิยมใช้กัน ได้แก่
- ยากลุ่มพาราเซตามอล ยากลุ่มนี้บรรเทาอาการปวดได้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง คนไข้ก็ไม่ควรกินยากลุ่มนี้มากเกินไป หรือกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานเกินไป เนื่องจากเป็นพิษต่อตับ
- ยากลุ่มแก้ปวดที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่ายากลุ่มนี้ให้ผลดีในการบรรเทาอาการปวด แต่ก็มักจะเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดท้อง หรือ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร คนไข้ที่กินยากลุ่มนี้นานๆ อาจเสี่ยงเป็นโรคไตหรือโรคหัวใจได้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินต่อเนื่องนานๆ เช่นกัน
- ยากลุ่มมอร์ฟีน แพทย์ในประเทศไทยไม่แนะนำให้ใช้รักษาอาการปวดในผู้ป่วยที่ไม่ได้ปวดจากมะเร็ง
2. การรักษาอาการปวดโดยไม่ใช้ยาซึ่งแบ่งคร่าวๆ เป็นการใช้หัตถการในการระงับปวด (Pain Intervention) และกายภาพบำบัดของเวชศาสตร์ฟื้นฟูมีหลายวิธี ได้แก่ การใช้ความร้อน การนวด การประคบเย็น การฝังเข็ม การฟังเพลง การใช้คลื่นความถี่วิทยุ และการฉีดเกล็ดเลือด เป็นต้น
การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น เพื่อฟื้นฟูร่างกายจัดอยู่กลุ่มเวชศาสตร์ทางเลือกที่เกิดขึ้นราว 10 ปีมาแล้วในต่างประเทศ ในเกล็ดเลือดมีสารต่างๆ ที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง เป็นสารที่มีไว้ซ่อมแซมร่างกาย จึงมีการศึกษาการฉีดเกล็ดเลือด ทั้งเพื่อความสวยงามและเพื่อลดการปวดข้อเข่า ข้อไหล่ และอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
ในปัจจุบันหลายโรงพยาบาลในประเทศไทย ปรับใช้แนวทางนี้เป็นเวชศาสตร์ชะลอวัยด้วย คุณภาพเลือดคือประสิทธิภาพการบรรเทาปวด เนื่องจากวิธีการนี้เป็นการใช้เกล็ดเลือดของผู้ป่วย (ผู้ปวด) เอง ดังนั้น ประสิทธิผลของการรักษาจึงแตกต่างกันไป ขึ้นกับสภาพร่างกายของคนไข้ช่วงอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต และคุณภาพเลือดของคนไข้แต่ละบุคคล ถ้าคนไข้เป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายดี เป็นนักกีฬา คุณภาพเลือดก็จะดี ผลการซ่อมแซมร่างกายก็จะดีไปด้วย
ทั้งนี้ การศึกษาการฉีดเกล็ดเลือดของต่างประเทศ ยังระบุด้วยว่า ประสิทธิผลการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นซ่อมแซมร่างกายจะได้ผลดีมากกับคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 55 ปี เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัยมากเพราะใช้เลือดของคนไข้เองในการรักษาตนเอง จึงไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการใช้ยาระงับปวดทั่วไป หลายครั้งจึงมีคนไข้ที่อายุมากกว่า 60 ปี มาขอรับการรักษาด้วยวิธีนี้ ซึ่งหมอก็ทำให้ได้ แต่ก็จะแจ้งคนไข้ด้วยว่า ประสิทธิผลอาจไม่ดีไม่เท่ากับคนที่อายุน้อยกว่า 55 ปี
"การรักษาโดยการดูดเลือดดำมาประมาณ 15 มิลลิลิตร แล้วนำไปปั่นแยกพลาสมาและเลือดแดง จากนั้นนำพลาสมาที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้นนำไปเพื่อการรักษาฉีดทันที"
ใครบ้าง ไม่เหมาะบรรเทาปวดด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น
สำหรับการรักษาอาการปวด ด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น แม้จะดีแต่ก็ไม่เหมาะกับคนไข้ทุกคน โดยเฉพาะไข้ 2 กลุ่ม ดังนี้
1. ผู้ที่เป็นมะเร็ง เนื่องจากเลือดของผู้ป่วยมะเร็งอาจจะมีเชื้อมะเร็ง ซึ่งหากนำเลือดของคนไข้มาปั่นแล้วฉีดกลับเข้าไปในร่างกายคนไข้แล้ว ก็อาจทำให้เกิดการกระจายของเชื้อมะเร็งไปที่อวัยวะอื่นๆ ได้
2. ผู้ที่มีภาวะการแข็งตัวของเลือดยาก การทำให้เกิดแผลจากเข็มฉีดยาอาจจะทำให้เลือดไหลมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนไข้
ส่วนปัญหา "เอ็นข้อไหล่" แนวโน้มโรคยอดฮิตคนเมือง ที่ผ่านมามีคนไข้อาการปวดเรื้อรังจากปัญหาเอ็นข้อไหล่เป็นจำนวนมาก โดยพบคนที่มีปัญหาเอ็นข้อหัวไหล่อันเกิดมาจากการยกของหนัก การทำงาน และการเล่นกีฬา ซึ่งการบาดเจ็บในส่วนนี้ต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูร่างกายนาน ดังนั้น การฉีดเกล็ดเลือดจึงมีประโยชน์ต่อนักกีฬา คนทำงานออฟฟิศและผู้ที่ต้องการรักษาอาการบาดเจ็บหายดี และใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการพักฟื้นร่างกาย เพื่อให้พร้อมกลับไปทำงาน แข่งกีฬาและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพเร็วที่สุด
เลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมให้ "คนไข้"
ขณะที่ แพทย์จะคัดเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละราย เพื่อประสิทธิผลการรักษาที่ดีที่สุดและเพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไข้ เมื่อได้รับการตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ หรือ MRI ว่ามีอาการบาดเจ็บของเอ็นหัวไหล่ ไหล่ติด และทีมแพทย์ร่วมกันวินิจฉัยและลงความเห็นว่าคนไข้รายนี้ ไม่เหมาะที่จะผ่าตัด หรือการออกกำลังกายก็ไม่ช่วยให้อาการปวดดีขึ้น แต่ควรรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดแทนคนไข้ก็จะถูกส่งตัวมารักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือด ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะฉีด 1 หรือไม่เกิน 2 เข็มเท่านั้น อาการปวดก็จะทุเลาลงถึง 80% ความปวดที่เหลืออีก 20% ขึ้นกับเวลาและการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูตามลำดับ.
ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB