ฟังสองมุม เจ้าอาวาส วัดเพียมาตร จ.ศรีสะเกษ อ้างถูกขับไล่ หลังรื้อถอนศาลาการเปรียญ ที่ผุพัง แม้บูรณะไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ด้านผู้ใหญ่บ้านโต้อิทธิพล นำเงินวัดไปเก็บที่บ้านเป็นล้าน บอกมีแค่หลักแสน และมอบให้เจ้าอาวาสแล้ว

วันที่ 18 เมษายน 2566 ในรายการ "เปิดปากกับภาคภูมิ" โดย ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ วันนี้เป็นการพูดคุยกับ พระมหาตะวัน ตปคุโณ เจ้าอาวาสวัดเพียมาตร จ.ศรีสะเกษ หลังจากที่ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ถูกผู้นำหมู่บ้านข่มขู่ ขับไล่ เนื่องจากทำการรื้อถอนศาลาการเปรียญและกุฏิที่ผุพัง พร้อมแฉมีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง

พระมหาตะวัน ตปคุโณ เปิดเผยว่า ที่ตัดสินใจโพสต์ เพราะเกือบ 10 ปี ที่อาตมาไม่เคยคิดว่าจะต้องออกมาพูดเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างชุมชนและวัด แต่ต้องชี้แจงในประเด็นที่เกิดขึ้น อย่างน้อย ก็เพื่อปกป้องพระเณร และปกป้องตัวเองให้พ้นจากการถูกกล่าวหา จากสิ่งที่ไม่มีมูล



สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดมาตลอด 10 ปี ในช่วงที่มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดแห่งนี้ ซึ่งวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ แต่ไม่มีเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. 2549 โดยประมาณ ต่อมาอาตมาได้เข้ามาประจำที่วัด ตั้งแต่ปี 2560 ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส จนปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์ และตั้งเจ้าอาวาสวัดขึ้น พร้อมแต่งตั้งอาตมาเป็นเจ้าอาวาสจนถึงปัจจุบัน

พระมหาตะวัน เผยว่า ตอนที่มาอยู่เมื่อปี 2560 พบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในการบริหารจัดการวัด มันเป็นช่วงสุญญากาศ เพราะไม่มีเจ้าอาวาส ไม่มีผู้นำ เหมือนเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มท้องถิ่นบางกลุ่ม มีการแต่งตั้งขึ้นมาดูแลกิจการงานของวัด รวมถึงเบิกถอนบัญชีของวัด ซึ่งช่วงสุญญากาศ ทางวัดมีบัญชี เพื่อใช้ในช่วงที่วัดยังไม่มีเจ้าอาวาส โดยอาตมาไม่ได้ติดใจอะไร

แต่เมื่อมีเจ้าอาวาสแล้ว ต้องมีบัญชีวัด ซึ่งเป็นบัญชีที่ถูกต้องตามกฎหมาย พระจึงไปเปิดบัญชีวัด เป็นบัญชีกลาง มีคณะกรรมการ บัญชีเก่าตามกฎหมายก็ถือว่าเป็นโมฆียะ 

...

อ.จตุรงค์ จงอาษา ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา เปิดเผยว่า เรื่องนี้มีความผิดปกติหลายอย่าง ซึ่งในช่วงที่เป็นสุญญากาศนั้น ที่จริงแล้ว พระชั้นผู้ใหญ่จะต้องลงมารับผิดชอบต่อ หรือถ้าเลวร้ายสุด ไม่มีใครดูแล ทางสำนักพุทธต้องเข้ามาดูแล และถ้ามีกระบวนการในการส่งมอบวัดที่ดี เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ก็จะทำงานง่ายขึ้น 

เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากอะไร พระมหาตะวัน เผยว่า ปัญหานี้เรื้อรังมานาน จากขอบเขตอำนาจของวัด และชุมชน ซึ่งทางกลุ่มของผู้นำ จะไม่ค่อยยอมรับมติส่วนใหญ่ เรื่องแตกหักเลยคือ การรื้อศาลาการเปรียญแล้วสร้างใหม่ เพื่อให้เป็นที่อยู่ของพระด้วย ซึ่งอาตมาไม่ได้อยากจะรื้อ แต่มีการบูรณะเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ใช้งบไปประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งมีอยู่หลังเดียว อายุโครงสร้างก็นานมากๆ แล้ว ฝนตกที พระเณรก็ต้องย้ายกันที 

ซึ่งอาตมา เวลาทำอะไรจะต้องปรึกษาพระผู้ใหญ่ที่ท่านมีประสบการณ์ ว่าเราสามารถทำได้หรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เพราะมีพระผู้ใหญ่ และชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เสียประโยชน์นั้นไม่เห็นด้วย ซึ่งวันที่จะมีการบูรณะศาลาการเปรียญนั้น มีตำรวจมาด้วย เพราะทางชาวบ้านไปแจ้งว่า อาตมาทำลายทรัพย์สินวัด ซึ่งอาตมาเพียงแต่จะนำหลังคา มาใส่กุฏิหลังเล็ก ให้พระท่านได้อยู่ 



ด้าน อ.จตุรงค์ เผยว่า อยู่กันมา 10 กว่าปี พระไม่มีที่นอน นอนไม่ได้เพราะฝนตก ไม่มีความละอายกันบ้างหรอ ผมงงมากว่าชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านการซ่อมแซมเป็นอะไรกัน พระนอนไม่ได้มันไม่ใช่ความผิดพระ แต่เป็นความผิดชาวบ้าน ปล่อยให้พระมาอาศัยอยู่ที่วัดนี้ แต่อยู่กันไม่ได้ ไม่ใช่พระอยากทำให้มันหรู 

เรื่องนี้ผิดที่เจ้าคณะปกครอง ไม่เคยลงมาดูพระผู้น้อย ชาวบ้านถือบัญชีไว้ ปล่อยปละละเลยได้อย่างไร และข้าราชการสำนักพุทธ ฝนตก พระนอนไม่ได้ ทั้งหน่วยงาน ทั้งชาวบ้าน เป็นอะไรกันหมด ซึ่งสภาพแบบนี้ถามว่า ยังต้องขอมติอีกหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้วอำนาจอยู่ที่เจ้าอาวาส และกรรมการวัด ที่ต้องถ่วงดุลกัน แต่ไม่ใช่ถ่วงความเจริญ ต้องแยกแยะ ซึ่งผมก็งงว่าตำรวจมาได้อย่างไร เพราะพระไม่ได้ทำผิดซึ่งหน้า ไม่ได้เสพยาบ้า เสพสีกา สุดท้ายทางเจ้าคณะจังหวัด กับ ผอ.สำนักพุทธ โทรมาเคลียร์ตำรวจ จนเข้าใจว่า เป็นอำนาจของเจ้าอาวาส 

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เผยว่า เบื้องต้นได้ประสานทางจังหวัด และยุติธรรมจังหวัดรับทราบแล้ว ซึ่งจะได้มีการลงพื้นที่เพื่อไปพูดคุยกับเจ้าอาวาส เรื่องนี้ตนขออนุญาตพูดสั้นๆ ข้อกฎหมายนั้น เจ้าอาวาส ร่วมกับคณะกรรมการ ในการร่วมกันตัดสินใจในการดำเนินการเกี่ยวกับเงิน การใช้จ่ายในวัด การบำรุงวัด ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าอาวาส หลังคารั่ว ก็ต้องปรับปรุง แต่การจะกล่าวหากันในทางอาญา ต้องระมัดระวังให้ดี ทางออกที่ดีควรจะให้สำนักพุทธจังหวัด เป็นตัวกลางในการพูดคุย



เจ้าอาวาส ระบุด้วยว่า เรื่องนี้อยากให้ทางผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้นำชุมชน หรืออดีตคณะกรรมการที่มีอำนาจดูแลบริหารวัด ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ทางวัด เพราะทั้งวัด ทั้งบ้าน ต้องช่วยกัน ยินดีที่จะให้เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา แต่ไม่ใช่จ้องจับผิด เอาตำรวจมาจับพระอย่างเดียว ต้องพูดถึงขนาดว่า อยู่ไม่ได้ก็ไม่ต้องอยู่ ปิดวัดไปเลย

สอบถาม นายอมรศักดิ์ อินทมาส ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเพียมาตร คู่กรณี ให้สัมภาษณ์ว่า ระหว่างที่ไม่มีเจ้าอาวาสนั้น มีคณะกรรมการ บริหารจัดการอยู่แล้ว 3 ท่าน ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่ ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน แค่กำกับดูแลเฉยๆ ในส่วนของงบประมาณ หรือเงินที่ชาวบ้านทำบุญไม่ว่าจะเงินกฐิน หรือเงินอะไร การทำอะไรต้องผ่านการประชาคม เงินที่ได้จะนำมาใช้ในส่วนไหนบ้าง ใช้เท่าไร ซึ่งผ่านมติที่ประชุมทุกครั้ง ในส่วนของงบฯ บางส่วนที่เป็นเงินสด เป็นมติที่ประชุมให้เก็บไว้ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เป็นเงินฉุกเฉิน ถ้ามีธุระ หรือภารกิจจำเป็นอะไรทั้งที่วัด หรือชุมชน ก็จะนำเงินส่วนนี้มาใช้ 



เมื่อถามว่า ถึงล้านไหม ผู้ใหญ่บ้าน เผยว่า มีหลักฐาน เอกสาร หลายครั้งอาจจะมีการพูดเกินจริง ล่าสุดเป็นเงินของชาวบ้านที่พัฒนา หรือก่อสร้างเสร็จ ประมาณ 2-3 แสน ก็มอบให้เจ้าอาวาส ให้ทางวัดบริหารจัดการต่อ 

ส่วนการซ่อมแซมศาลาการเปรียญนั้น เราก็เห็นด้วยว่า สมควรจะซ่อม และได้ดำเนินการซ่อมไปเรียบร้อยแล้ว ภาพที่เห็นเป็นภาพเก่า และได้มีการซ่อมแซมไปแล้วบางส่วน ในส่วนของหลังคา ฝ้าเพดานด้านบน จะมีที่ชำรุดบ้างคือ พื้นไม้ ขอบประตู หน้าต่าง แต่ ณ ขณะนั้นมีงบเท่านี้ ก็ซ่อมได้บางส่วน หลังจากนี้ก็มีแพลนที่จะซ่อมแซม และพัฒนาต่อ ซึ่งยังขาดปัจจัยเยอะพอสมควร ซึ่ง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีโควิด ทำให้เราไม่มีงบประมาณ

เมื่อถามว่า ทำไมต้องมีการไปแจ้งความ ทางผู้ใหญ่บ้าน เผยว่า ต้องฝากสื่อให้เข้ามาในพื้นที่ มาดูว่าตนมีอิทธิพลตรงไหน ผมมีบารมี หรือไปคุกคามใครได้ คนในพื้นที่รู้ดีที่สุด ส่วนของตำรวจนั้น ต้องย้อนไปเมื่อการประชาคมเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งทางวัดจะมีการรื้อถอนกุฏิ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วได้ทำการบูรณะไปแล้ว พี่น้องก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่สุดท้ายยังไม่มีมติออกมา แต่ให้รอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่รู้โครงสร้างของกุฏิ ว่าสมควรที่จะรื้อจริงๆ หรือไม่ เพราะชาวบ้านผูกพัน เพราะสร้างกันมา เขาก็เสียดาย แต่ถ้าต้องรื้อจริงๆ ก็อยากให้มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ แต่ทางเจ้าอาวาส ได้นำเครื่องจักรเข้ามาในพื้นที่ เพื่อรื้อถอน ชาวบ้านบางส่วนเห็นเครื่องจักร จึงประสานมา ตนจึงแนะนำว่า ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อมาระงับเหตุดีหรือไม่ ไม่ได้แจ้งจับ แต่ลงบันทึกประจำวัน และไกล่เกลี่ย

เมื่อถามว่า ทางเจ้าอาวาส อยากให้ทางผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ไม่ใช่ก้าวก่าย ในการบริหารจัดการวัดของเจ้าอาวาส นายอมรศักดิ์ ระบุว่า ผมยินดีมากที่จะให้ท่านดำเนินการ เพราะเป็นหน้าที่ของท่าน ผมเป็นที่ปรึกษา ผมแค่ทำงานในส่วนราชการ ก็หนักอยู่แล้ว พูดจริงๆ ทางชุมชนไม่มีอะไร ผมไม่มีอะไรเลย

ทั้งนี้ อ.จตุรงค์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เห็นบอกว่า ชาวบ้านผูกพันกับศาลา แต่ที่เห็นคือ ผุพัง ซึ่งทางผู้ใหญ่บ้าน ก็บอกว่า อยากให้มาลงพื้นที่ดูก่อน ถึงจะพูดได้ ซึ่ง อ.จตุรงค์ ก็บอกว่า ไม่ต้องลงหรอก ถ้ามันผูกพันขนาดนี้ สภาพศาลาคงไม่สวยขนาดนั้น 


ติดตามได้ในรายการเปิดปากกับภาคภูมิ เวลา 15.30 น. ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32