เหมือนปี่ฆ้องฮ้องดัง...เมืองไทยจะมีเลือกตั้งในอีกไม่กี่วัน แต่ในสายตาคนรุ่นใหญ่มากประสบการณ์ยังเห็นพรรคการเมืองเล่นเกมแข่งขันกันด้วยประชานิยม ราวเด็กเล่นตี่จับหน้าห้องเรียน...พรรคนี้แจกนั่น พรรคนั้นแจกนี่ พรรคโน้นแจกโน่น...

ไร้นโยบาย...พรรคใด? จะคิดชูคุณภาพชีวิตประชาชนไม่ให้ตายวันตายพรุ่ง

ดูแต่เรื่องฝุ่นจิ๋วพิษ “พีเอ็ม 2.5” เกิดกระแสรุนแรงเมื่อไทยแลนด์คือเชียงใหม่ก้าวข้ามทุกชาติขึ้นไปยืนอันดับ 1 ที่มีฝุ่นพิษคลุมจนบ่หันดอยสุเทพสักน่อย แถมพบว่าคนที่นั่นเป็นมะเร็งโพรงจมูกเพราะถูกฝุ่นชนิดนี้เข้าไปรบกวน

สุมาเต๊อะเจ้า!...ถ้ามัวแต่รอนโยบายพรรคการเมืองที่คิดจะเป็นรัฐบาลรักษามะเร็งฟรี...ชาตินี้คงไม่ทัน ไว้ชาติหน้าค่อยตามเปิ้นไปรักษา...ทำนองเดียวกันมาตรการสาธารณสุขบ้านเราคงไม่ปฏิเสธมีแต่จะย่ำแย่ขึ้นทุกวัน

เมื่อรัฐปล่อยให้พ่อค้านักธุรกิจออกมาอวดอ้างสรรพคุณยาสารพัดบำบัดโรค โดยเลี่ยงบาลีเป็น “อาหารเสริม” เพื่อโฆษณาสร้างแรงจูงใจให้ซื้อยาที่กลายเป็นสินค้าบริโภคทั่วไปได้...ทั้งนี้มีหมอและเภสัชกร “น้ำเสีย” คอยหนุนอยู่ข้างหลังให้ดูขลังน่าเชื่อถือ

เภสัชกร “น้ำดี” ให้ข้อมูลน่าเชื่อถือ...เมืองไทยมีพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2518 และ พ.ศ.2522 บัญญัติให้ยกเลิกในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510

...

และให้ใช้มาตรา 4 พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2522 ให้มี “คณะกรรมการยา” ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กับเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์กับผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ...มีหน้าที่ควบคุมดูแลการผลิตยา ขายยา

หรือนำยาเข้ามาในราชอาณาจักรใช้เฉพาะตัวไม่เกินสามสิบวัน หรือการนำหรือสั่งยาเข้ามาโดยกระทรวง ทบวง กรม ในหน้าที่ป้องกันหรือบำบัดโรค

โดยหน้าที่เภสัชกรตาม พ.ร.บ. ....คือควบคุมการผลิตยาตามตำรับที่ขึ้นทะเบียนและควบคุมการขาย นอกนั้น พ.ร.บ.ระบุเป็นการขอใบอนุญาตยาแผนโบราณและหน้าที่ หมวดยาปลอมผิดมาตรฐานเสื่อมคุณภาพ การประกาศตำรายา ยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ยาต้องแจ้งเตือนการใช้

ที่น่าสนใจคือมาตรา 29 แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 โดยมาตรา 88 ทวิ การโฆษณาขายยาทางวิทยุกระจายเสียง เครื่องขยายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพหรือภาพยนตร์ หรือทางสิ่งพิมพ์

จะต้องได้รับอนุมัติข้อความ เสียง หรือภาพ จากผู้อนุญาต และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ผู้อนุญาตกำหนด

“สำหรับมาตรา 112 ถึงมาตรา 129 เป็นบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ปรับตั้งแต่ 500 ถึง 100,000 บาทในบางมาตราหรือทั้งจำและปรับ โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้” เภสัชกรน้ำดีว่า

กฎหมายฉบับนี้ผู้ถือดาบคือ “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” หรือรู้จักกันดีในนาม “อย.” สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และรู้จักกัน มากขึ้นช่วงปี 2562 เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดทั่วโลก ที่เมืองไทยมีคนป่วยและล้มตายเป็นเบือ เพราะได้แต่รอวัคซีนที่ต้องผ่านความเห็น ชอบจาก อย.ก่อน

...ว่าจะใช้สกุลไหนจากประเทศใดฉีดให้ประชาชน...เรื่องมันก็ผ่านไปแล้วป่วยการฟื้นฝอยหาตะเข็บ

เอาเป็นว่าบทบาทขององค์กรที่ว่า...มีหน้าที่หลักคุ้มครองประชาชนในเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีพระราชบัญญัติอาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุอันตรายในบ้าน และวัตถุเสพติดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น กัญชา ที่เยาวชน...คนทั่วไปใช้กันนัวเนียตามที่เป็นข่าวมาอยู่เรื่อยๆ

โดยผู้ใช้กฎหมายที่กำกับดูแลและเฝ้าระวังอันตราย...จะใช้จริงหรือเท็จนั้นเบื้องต้นร้านขายยาหลายรายมักบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า งานหลักประจำของ อย.คือชอบทำในที่ “แจ้ง” หมายถึงสุ่มตรวจร้านขายยามีเภสัชกรประจำร้านตามกฎหมายหรือไม่?...หรือมีอะไรไม่ถูกต้อง?

พนักงานเดินยาประจำร้านยาเผยว่า... “มีร้านขายยาขนาดเล็กหลายรายเจอปัญหาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ขายกันโครมๆ เป็นยาสารพัด เช่น ยาสามัญประจำบ้านจำพวกเบตาดีน ยาธาตุน้ำแดง ยาลดกรดในกระเพาะ....

จริงๆแล้วยาทุกประเภทไม่เว้นวิตามินบางตัวจะต้องขึ้นทะเบียนยา เขาทำได้เพราะเป็นขาใหญ่มีเงิน แต่ร้านขาเล็กส่วนใหญ่คิดว่ายาสามัญไม่อันตรายขายได้ ก็เลยขายพารา เกลือแร่ ทางออนไลน์...

ผลคือถูกจับปรับ 5 หมื่นบาท พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 88 ทวิ โทษตามมาตรา 124 ปรับไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่มีการตักเตือน ทั้งที่ทำแบบไม่มีเจตนารู้กฎหมายไม่ละเอียดพอ และต้องการเพิ่มยอดขายในสภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ร้านขายของชำที่ขายยาปฏิชีวนะ แก้อักเสบ แก้ปวด ก็เหมือนกัน”

พนักงานคนเดียวกันแนะว่า... “ยาลดความอ้วนก็ดี ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด หรือไวอากร้า พวกนี้จะขายได้เฉพาะในร้านยาที่มีใบอนุญาตเท่านั้น แต่จริงๆแล้วขาเที่ยวประจำตามผับบาร์ในกรุงเทพฯย่านถนนข้าวสาร สีลม สุขุมวิท หาซื้อได้ง่ายเหมือนยาเสพติดประเภทยาไอซ์ ยาเค ที่แอบขายกันเกร่อ

ต่างจังหวัดก็หาซื้อได้ตามเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ เช่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ในเมืองรองก็มีขาย พวกนี้ถ้าไม่ถูกร้องเรียนก็มักไม่มีการจับกุม”

พนักงานคนเดิมบอกอีกว่า ปัจจุบันร้านยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังเกิดเหตุการณ์โควิดระบาดหนักจนคนตระหนักถึงภัยที่ใกล้ตัว

ยิ่งทางการแพทย์คอยเตือนผ่านสื่ออยู่ทุกวันถึงอาการเจ็บคอ ไอ ลิ้นไม่รับรส ผื่นคันตามผิวหนังอันเป็นสิ่งบอกเหตุสงสัยว่าติดโรคโควิดมาแล้วภายใน 7 วันอาจถึงเสียชีวิตได้

ผู้คนเลยแตกตื่นพากันซื้อยาฟ้าทะลายโจรแผนโบราณยกใหญ่ หรือไม่ก็ยาแก้เจ็บคอจำพวกคามิลโลซาน เอ็ม กับยาอม สเปรย์ฉีด จึงขายดีไม่พอจำหน่ายในช่วงนั้น เพราะไม่อาจรอวัคซีนฉีดใส่แขนจาก อย.ได้

จนทุกวันนี้...บรรยากาศเริ่มสดใสขึ้นแม้โรคระบาดจะยังไม่จางหายไปเสียทีเดียวจากโลกนี้ แต่ความต้องการ “ยา” ในหมู่ผู้คนกลับมีมากขึ้นเพื่อดูแลรักษาสุขภาพไม่ให้มีปัญหาเช่นที่ผ่านมา...

ธุรกิจค้าขาย “ยา” จึงมีสินค้ามากขึ้นด้วยเป็นปัจจัยหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะการโฆษณาชักชวนผ่านทางสื่อ ไม่ว่าจะ “ออนไลน์” หรือ “ออฟไลน์”

จนเกิดปรากฏการณ์ใหม่ให้เหล่าพ่อค้ายา แพทย์ และเภสัชกรถูกสังคมแบ่งแยกเป็นพวก “น้ำดี” และ “น้ำเสีย” ออกจากกัน.