นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยร่วมกับสำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในผู้ที่มีอายุ 18-80 ปี จำนวน 78,717 คน พบว่าร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดย การนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

สาเหตุหนึ่งที่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจากเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นการนั่งในห้องทำงานส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ

และพบด้วยว่า คนไทยมีการทดแทนการขยับร่างกายที่น้อย เช่น การออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมนันทนาการยามว่าง ซึ่งคนเมืองมีสัดส่วนกิจกรรมทางกายในนันทนาการ และการเดินทางมากกว่าคนชนบท ทั้งนี้การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอจะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น.