หลังการแถลง กรณีแท่งเหล็กกัมมันตรังสี "ซีเซียม 137" ส่งผลแฮชแท็ก #ซีเซียม137 พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ คนสงสัยควรทำตัวยังไงต่อ 

วันที่ 20 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกับ ปภ. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และ สภ.ศรีมหาโพธิ ร่วมแถลง กรณีแท่งเหล็กกัมมันตรังสี "ซีเซียม 137" ที่หายไปจากโรงไฟฟ้า ใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่า อาจถูกหลอมไปแล้วในโรงงานหลอมโลหะ

โดย นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ระบุว่า จากการตรวจสอบที่โรงงานแห่งหนึ่ง มีการตรวจพบสารซีเซียม 137 บริเวณบิ๊กแบ็ก ส่วนที่เหลือมาจากการผลิตเหล็ก ซึ่งเหล็กนี้มาจาก เหล็กที่ถูกนำมาหลอมรวมกันในเตา ซึ่งความร้อนนั้น ทำให้เกิดฝุ่นเหล็ก หรือฝุ่นแดง แต่ก็อยู่ภายในระบบปิด พอเย็นก็จะเริ่มตกเป็นผลึกเล็กๆ และนำมาเก็บไว้ที่นี่ ซึ่งก็พบสารซีเซียม 137 ซึ่งเราได้ปิดพื้นที่ควบคุมทันที และให้เจ้าหน้าที่เช็กพื้นที่รอบข้าง ว่ามีสารซีเซียม 137 ด้วยหรือไม่ ซึ่งห่างไปจากถุงบิ๊กแบ็ก ประมาณ 10 เมตร ไม่พบสารซีเซียม

...

ขณะที่พนักงานประมาณ 70 คนที่ทำงานอยู่ภายในโรงงาน ได้มีการสั่งให้หยุดงานก่อน และจะให้ทางแพทย์ พยาบาล เข้าไปตรวจร่างกาย ขณะที่มีการกั้นพื้นที่โดยรอบ ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปยังบริเวณดังกล่าว

ด้าน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เผยว่า เรายังไม่รู้ว่า โรงานนี้ทำแท่งเหล็กบรรจุ "ซีเซียม-137" หายไปได้อย่างไร เพราะระบบความปลอดภัยของบริษัทค่อนข้างแน่นหนา

ส่วนโรงงานหลอมโลหะหรือหล่อเหล็ก ที่ตรวจเจอสารซีเซียมนั้น มีการใช้อุณหภูมิถึง 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อให้เหล็กหลอมละลาย และทำเป็นระบบปิดทั้งหมด สารซีเซียม เมื่อเจออุณหภูมิเพียง 600 องศาเซลเซียส จะระเหยไปกับเขม่า กลายเป็นฝุ่นแดงจากการหลอมเหล็ก โดยโรงงานนี้มีการหลอมทุกวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมไว้ทั้งหมดแล้ว

แต่ถึงแม้เราเจอซีเซียม แต่เรายังไม่สรุปว่า มาจากอุปกรณ์นั้นที่หายไปจากโรงงาน ซึ่งทางตำรวจกำลังดำเนินการอยู่ว่า ใช่หรือไม่ เพราะสารซีเซียมนั้นไม่ได้เจอกันง่ายๆ ซึ่งจะอันตรายก็ต่อเมื่อเข้าไปในร่างกาย 

อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบขั้นตอนของการบรรจุฝุ่นแดง ปนเปื้อนซีเซียมเข้าไปในกระสอบ ดังนั้นเราจึงต้องนำเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจร่างกายพนักงานที่อยู่ภายในโรงงาน 

ส่วนฝุ่นแดงที่ปนเปื้อนซีเซียม 24 ตัน ประมาณ 24 กระสอบ มี 1 กระสอบ ถูกนำไปถมที่ดินหลังโรงหลอม ก็ให้เจ้าหน้าที่ไปขุดดินทั้งหมด นำดินที่ปนเปื้อนมาใส่กระสอบเช่นเดิม และยกมารวมกับกระสอบที่ปนเปื้อน และปิดล้อมที่ดินดังกล่าวไว้ จากนี้ไปเป็นกระบวนการสอบสวนการสูญหาย จนนำเข้าสู่โรงหลอม

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ชาวบ้านอยากรู้ว่า ตกลงแล้วถูกหลอมไปหรือยัง และชาวบ้านจะรับมืออย่างไรต่อ นายเพิ่มสุข ถามกลับว่าฟังอยู่หรือไม่ และว่าในกระบวนการขณะนี้ เราไม่มั่นใจว่า ตัวอุปกรณ์นั้นหลอมหรือยัง เพราะสมมติว่าเข้าไปแล้ว มันเกิดการเผา เปลี่ยนสภาพเป็นเหล็กเหลว ตอนนี้มันกลายเป็นฝุ่นเหล็กไปแล้ว และเผาในระบบปิด เพราะฝุ่นเหล็กมีราคาพอสมควร ดังนั้นอย่ากังวล เราวัดรอบโรงงานแล้ว ไม่มีรั่วออกมา

ด้าน นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เปิดเผยว่า จากลงพื้นที่ใช้เครื่องมือในการตรวจสอบวัดแผ่รังสีบริเวณรอบโรงงานดังกล่าวรัศมี 5 กิโลเมตร มีการเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และอากาศ ไปตรวจสอบ ไม่พบการฟุ้งกระจาย หรือปนเปื้อนของสารซีเซียม 137 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม

พร้อมยืนยันว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงงานดังกล่าวถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่จำกัด และจากการตรวจพนักงานที่ทำงานในโรงงานไม่พบการเปรอะเปื้อนของสารซีเซียม 137 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการแถลงข่าวแล้ว หลายคนยังเกิดความสงสัยว่า แท่งเหล็กบรรจุ "ซีเซียม-137" ถูกหลอมไปแล้วหรือยัง แล้วสารซีเซียม-137 ไม่เกิดการฟุ้งกระจายในอากาศจริงๆ หรือไม่ เพราะบางคนบอกว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลในเรื่องนี้ ส่งผลให้แฮชแท็ก #ซีเซียม137 พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์