อันตรายกว่าที่คิด หมอโรคปอด และโรคจากการนอนหลับ เผยผลวิจัยฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อการนอนของเด็กเล็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ พร้อมแนะวิธีการดูแล-ป้องกันตนเองในวันที่ค่าฝุ่นพุ่งสูง
วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า จากการติดตามเด็กอนุบาล จำนวน 115,023 คน จาก 551 เมือง ในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์ จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับฝุ่นที่สูง ในช่วงอายุ 0-3 ปี จะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน
เด็กที่แรกคลอด ไม่แข็งแรง ต้องเข้าไอซียู จะพบความผิดปกติได้มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ เด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย (คิดเอาเองว่าอาจได้รับ PM 2.5 เพิ่มทางน้ำนมแม่)
ในฐานะหมอโรคปอด และหมอโรคจากการนอนหลับ สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวน โดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน อาจทำให้พัฒนาการทางสมอง ถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วย ว่าแต่จะมีใคร "รู้หน้าที่" ทำเพื่ออนาคตเยาวชนของชาติเราบ้าง
ทั้งนี้ยังได้แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง โดยหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศ จากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม เมื่อค่า PM 2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ
- สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N 95 ตลอดเวลา
- สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคาร ซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศ ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N 95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงาน ไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที
- ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคาร ควรจัดให้มีระบบระบาย และฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง หลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2. การออกกำลังกายในร่ม ควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศ ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น
- การกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยลดการทำลายเซลล์ และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้
- การอยู่ในบริเวณที่มีพืชใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น.
...
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล