• รู้หรือยัง ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา คนไทยไม่จำเป็นต้องพกบัตรประชาชนใบจริง โดยสามารถใช้บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) แทนได้แล้ว ผ่านแอปฯ D.DOPA
  • การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) คือการสร้างมิติใหม่ของการการยืนยันตัวตน ที่ทำให้การทำธุรกรรมภาครัฐ และภาคเอกชนมีความสะดวก รวดเร็ว ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น
  • เผย 8 ขั้นตอนง่ายๆ ในการลงทะเบียนพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

อย่างที่ทราบกันดีว่า บัตรประจำตัวประชาชน เป็นเอกสารสำคัญที่ทุกคนต้องพกติดตัวไว้ควบคู่กับบัตรต่างๆ เพื่อใช้พิสูจน์และยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย เมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่างๆ ในการติดต่อหน่วยงานราชการ และเอกชน

แต่นับตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา ประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน แทนการแสดงตนด้วยบัตรประจำตัว เนื่องจากผลบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ มาตรา 14 ที่ว่า "ประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้"

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะทำให้ทุกคนสามารถออกจากบ้าน ไปติดต่อดำเนินการต่างๆ ได้สะดวกและง่ายดายขึ้น เพียงแค่พกโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวเท่านั้น โดยสามารถทำผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID)

...

การพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) คืออะไร

การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตน จากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิม ที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ ของการทำธุรกรรมภาครัฐ และภาคเอกซน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอม ในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบ เดิมและเพื่อสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) อีกด้วย

วิธีการลงทะเบียนพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

สำหรับวิธีลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง สามารถทำได้ ดังนี้

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน D.DOPA ลงในโทรศัพท์มือถือของตนเองก่อนเข้ามาขอรับบริการลงทะเบียน ใช้ได้ทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนดรอยด์ (Android)
  • ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ 2 วิธี คือ ลงทะเบียนด้วยตนเอง และลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ดังนี้

ขั้นตอนการลงทะเบียนด้วยตนเอง

  1. เลือกหัวข้อลงทะเบียนด้วยตนเอง
  2. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ เพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
  3. ถ่ายรูปหน้าบัตรประจำตัวประชาชน เมื่อเสร็จแล้วให้ตรวจสอบความชัดเจน และกดปุ่มยืนยัน หรือถ่ายใหม่
  4. ตรวจสอบข้อมูลบัตรประจำตัวประชาชน หากถูกต้องให้กดยืนยัน
  5. ถ่ายรูปภาพใบหน้าตนเอง
  6. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
  7. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
  8. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

ขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่

  1. เลือกหัวข้อลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่
  2. นำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูล ก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
  3. ทำการเปิดแอปพลิเคชัน D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องโทรศัพท์มือถือ
  4. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนสิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล
  5. ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ให้ถูกต้อง
  6. สแกนลายพิมพ์นิ้วชี้กับเจ้าหน้าที่
  7. สแกน QR code บนหน้าจอของเจ้าหน้าที่ ด้วยแอปพลิเคชัน D.DOPA
  8. ตั้งค่ารหัสผ่านเหมือนกัน 2 ครั้งโดยต้องไม่เรียงกัน และไม่ซ้ำกันเกิน 4 ตัว เช่น 1234, 1111
  9. ระบบแจ้งเตือนขอความยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก
  10. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงรูปบัตรประจำตัวประชาชน

หลังจากลงทะเบียนเสร็จแล้ว หากใครต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่างๆ เราก็สามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้ว แสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจ แทนการใช้บัตรประชาชนได้ทันที นับว่าเป็นการพัฒนาระบบที่เพิ่มความสะดวกสบายและตอบโจทย์วิถีชีวิตในโลกยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยังคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์.

ผู้เขียน : PpsFoam

กราฟิก : Varanya Phae-araya

ที่มา : กรมการปกครอง