หมอเจ้าของเพจ "สู้ดิวะ" อัปเดตอาการป่วย พร้อมกับแชร์เรื่องราวการกลับไปทำหน้าที่อาจารย์ ผ่านคำถาม "ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต จะยังออกไปทำงานนี้อยู่ไหม"
วันที่ 28 มกราคม 2566 จากกรณีที่คุณหมอกฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 28 ปี ได้เปิดเพจเฟซบุ๊ก "สู้ดิวะ" เพื่อเล่าประสบการณ์การป่วยเป็น "มะเร็งปอดระยะสุดท้าย" ทั้งที่อายุน้อย ชอบออกกำลังกาย และมีสุขภาพที่แข็งแรง จากนั้นได้เข้าสู่ขั้นตอนการรักษา ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุด ล่าสุด หมอกฤตไท ได้โพสต์ภาพของตัวเองที่กำลังยืนสอนนักศึกษาในชั้นเรียน ผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมกับข้อความระบุว่า สวัสดีครับ ผมมีเรื่องที่น่าประทับใจอยากจะมาแชร์ครับ "ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต จะยังออกไปทำงานนี้อยู่ไหม" ผมได้ยินคำถามนี้มาหลายปีแล้วจาก คุณเคน The Standard ใช้ถามตัวเองในตอนที่จะตัดสินใจย้ายงาน ตอนนี้อินกับคำถามนี้มากๆ เลย
เพราะตั้งแต่ป่วยมา ต้องยอมรับว่าเราอาจจะไม่ได้มีโอกาส และเวลาที่จะทำได้ทุกอย่างเหมือนเดิม การที่เราจะไม่ทำงานในช่วงนี้ ก็ดูเข้าใจได้มากๆ เพราะด้วยเวลาที่เหลืออยู่ ผมควรเอาไปใช้ชีวิตมากกว่า ก็แอบน่าสงสารตัวเองเหมือนกันครับ ที่คำว่า ใช้ชีวิตของผม มันแทบจะแยกออกจากการทำงานไม่ได้เลย
ช่วงชีวิตที่ผ่านมา ผมมีพื้นฐานครอบครัว ที่พร้อมพอให้ผมเลือกงานอย่างมีอิสระ ผมก็เลยจริงจังกับเรื่องนี้มากๆ ขนาดที่คิดว่า อยากจะหางาน ที่ผมจะอยากทำไปจนตาย ไม่อยากทำงานที่กลัววันจันทร์ หรือทำเพื่อเฝ้ารอวันหยุด ทำแล้วนับว่าเมื่อไรจะเกษียณ แต่ยังไงชีวิตผม มันก็ค่อนข้างจะตามตำรา ส่วนตัวผมเลยจะไม่ค่อยรู้ว่า จริงๆ แล้วงานแบบไหนที่เราอยากทำ
ลองทำหลายแบบทดสอบเหมือนกันครับ ว่าจุดแข็งเราคืออะไร งานแบบไหนที่เหมาะกับเรา ผมเชื่อว่ามันคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนที่สุด แต่หลักการที่ผมสนใจคือ หลักการเรื่อง อิคิไก ที่สรุปแบบคร่าวๆ คือ งานที่จะเป็นงานที่เราจะอยากทำไปจนตาย อยากพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆเนี่ย มันจะเป็นจุดร่วมของงานที่มีลักษณะ 4 อย่างนี้คือ "งานที่เราชอบ งานที่เราถนัด งานที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเรา และงานที่สร้างประโยชน์ให้สังคม" เขาว่าถ้าหางานที่ตอบโจทย์ทั้ง 4 ด้านนี้ได้ เราจะอยากทำมันไปตลอด
...
หรือหลักการเรื่องที่ว่าให้เลือก "งานที่ท้าทายเรา" ไม่ใช่แค่งานที่เราชอบ เพราะความชอบมันเบื่อได้ แต่ความท้าทาย มันจะทำให้เราสนุกไปกับมัน และอยากจะกลับมาเอาชนะมันให้ได้ อยากพัฒนาตัวเอง ให้ดีขึ้นทุกวัน แล้วผมก็มาเจอมัน ในสนามบาสเกตบอลครับ
ในช่วงชีวิตการเป็นนักศึกษา ผมใช้เวลากับการอยู่สนามบาส มากกว่าอยู่ห้องสมุดครับ ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบพัฒนาตัวเองครับ ที่เห็นได้ชัดคงเป็นบาส เพราะบาสไม่ใช่แค่สิ่งที่ผมชอบ แต่มันท้าทายผมอยู่ตลอด เราต้องเก่งขึ้นนะ ต้องฝึกทักษะนั่นนี่เพิ่มนะ ไปลงสนามแข่ง ไปเจอข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วเอามาซ้อมมาปรับแก้ ให้เราเป็นนักกีฬาที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่มันจุดประกาย และส่งผลต่อการทำงานของผมจริงๆ มันเกิดขึ้น ตอนที่ผมมีรุ่นน้องในชมรม
ผมจำไม่ได้ว่ามันเริ่มเมื่อไร ที่ผมเดินเข้าไปหาน้อง แล้วก็สอนสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดมาก่อน สอนทั้งหลักการและทักษะ คงรู้สึกเสียดายว่า ถ้าสิ่งที่เราเรียนรู้มา มันจบลงแค่ที่เรา เล่นได้คนเดียว มันน่าเสียดายเกินไป ผมก็เลยอยากให้มีคนเก่งกว่าผม ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาซ้อม สิ่งที่ผมเคยทำผิดมาก่อน จะได้ไปได้ไกล และเร็วกว่า ซึ่งผมทุ่มเทกับสิ่งนี้ มากกว่าที่ผมซ้อมตัวเองอีกครับ การซ้อมยังมีวันที่ไม่อยากทำบ้าง แต่ไม่เคยมีความรู้สึกว่าไม่อยากสอน หรือสอนแล้วคิดว่าเมื่อไรจะเสร็จเลย
ซึ่งมันก็ส่งผลกับการเรียน ทั้งตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ และตอนที่เป็นแพทย์ประจำบ้าน มันทำให้ผมชอบคุย ชอบสอนคนไข้ สอนญาติ ผมสนุกกับการอธิบายนะ สนุกกับการทำให้จากที่ไม่รู้ กลายเป็นรู้ สนุกกับการที่เราต้องฟังเขาก่อน เพื่อรู้ว่าจริงๆแล้วปัญหาเขาคืออะไร แล้วเราพอจะมีอะไรช่วย ไปแก้ปัญหาให้เขาได้ไหม ถ้ามีก็อธิบายให้เขาเข้าใจให้ได้ นอกจากการตรวจคนไข้ ระหว่างเรียนผม ก็ยังมีงานที่ต้องได้ไป presentation หรือได้สอนนักศึกษาแพทย์บ้าง
ยิ่งทำ ยิ่งรู้ว่าเราชอบงานแบบนี้แหะ ชอบพูดแล้วมีคนพยักหน้าตาม ชอบที่กระบวนการเตรียมก่อนมาสอน ชอบตอนที่ขึ้นเวที จับไมค์ แล้วเล่าเรื่องราว ผมเริ่มเสพติดการมีคุณค่าแบบหนึ่ง การได้เห็นว่าตัวเองพูดรู้เรื่อง ถ่ายทอดได้
ผมก็เข้าใจว่าตัวเอง เป็นคนพูดดี สอนดีมาตลอด แต่ก็ไม่รู้จะสอนอะไรครับ การสื่อสารได้ดี ไม่ได้แปลว่า content ที่เราจะสื่อสารมันน่าสนใจ และมีประโยชน์กับผู้เรียนเสมอไป จนผมได้มาเจอกับศาสตร์ของระบาดวิทยาคลินิก
งานด้านระบาดวิทยาคลินิก คร่าวๆ มันเป็นเรื่องของการที่เรา จะออกแบบวิธีการทำวิจัย เพื่อหาคำตอบมาแก้ปัญหาที่หมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์เจอ เป็นการทำวิจัย ที่มีเป้าหมายสูงสุด เพื่อช่วยให้กระบวนการดูแลรักษาคนไข้ดีขึ้น
ซึ่งการจะตอบโจทย์ลักษณะนี้ ต้องมีความจริงจัง เรื่องระเบียบวิธีการทำวิจัย ที่น่าเชื่อถือ มีตรรกะอย่างที่สุด มีระเบียบวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล การใช้สถิติทางการแพทย์ การนำเสนอผลวิจัยต่างๆ ที่ต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์อย่างมาก
ลองนึกภาพว่า หมออยากรู้ว่าจะให้ยาอะไร เพื่อรักษาคนไข้สักคนหนึ่ง การจะได้มาซึ่งคำตอบของชนิดยา ขนาดยาที่ให้ ความถี่ หรือผลลัพธ์จากการรักษา ผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดได้ การจะหาคำตอบพวกนี้เพื่อมาช่วยหมอในการรักษาคนไข้ มันก็สมควรที่จะต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อน และใช้เหตุผลมากๆ
เชื่อว่าทุกท่านลองคิดตาม ก็คงจะพอเห็นภาพ ถึงความจริงจังในการหาคำตอบเหล่านี้ ทุกท่านคงไม่เห็นด้วยกับการรักษาที่อิงหลักฐาน จากการที่มีคนข้างบ้านใช้แล้วได้ผล หรือข้อมูลที่แชร์ต่อๆกัน มาใช้กับคนที่เรารักแน่ ซึ่งศาสตร์นี้มันค่อนข้างยากจริงๆครับ ยากเลยแหละ ผมเองเกลียดมันเหมือนกันครับ ผมว่านักศึกษาแพทย์ที่เรียนรุ่นใกล้ๆผม แล้วไม่ได้จริงจังกับการเรียนมาก น่าจะเกลียดวิจัย เกลียดสถิติทางการแพทย์พอๆกับผมเนี่ยแหละ
เพราะสำหรับผมแล้ว มันเป็นศาสตร์มืดจริงครับ ภาษาเทพ ศัพท์แปลกๆ การวิเคราะห์ที่ซับซ้อน ผลลัพธ์ก็แปลผลไม่รู้เรื่อง แต่ ผมได้มีโอกาสเรียนกับพี่เพียว อาจารย์ระบาดวิทยาคลินิกแนวใหม่สายแข็ง อาจารย์ผู้ตีพิมพ์วิจัยมาก จนไม่ต้องกลัวเขาจะไปซื้อ แต่ควรกลัวเขาจะทำขายมากกว่า (ล้อเล่นนะครับ)
การได้เรียนกับพี่เพียวมันเป็นการเปิดโลกของผมมาก เปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อวิจัย และสถิติไปอย่างสิ้นเชิง ผมเข้าใจ ผมใช้งานมันได้ สนุกไปกับหลักการ และเหตุผลของมัน อยากรู้อยากเข้าใจมากขึ้นไปอีก นอกเหนือจากเนื้อหา ผมเข้าใจอย่างสุดหัวใจเลยครับว่า "การสอนที่ดี" มันเป็นยังไง
"สอนเรื่องยาก ให้ยากใครก็สอนได้ แต่การสอนเรื่องยากให้ง่าย คือนายต้องเก่งหน่อย (พี่เพียวไม่ได้พูดเอง แต่ผมสัมผัสเสียงในใจแกได้แบบนี้) ผมจึงตัดสินใจว่าจะเป็นอาจารย์ ที่สอนเรื่องที่ตัวเองเคยเกลียด และไม่เข้าใจอะไรเลยนี้แหละ ให้อย่างน้อย ผู้เรียนมีมุมมองว่า มันก็ไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้น มันเข้าใจได้จริงๆ มันไม่ได้เกินความสามารถของพวกเขาเลย จะได้มีหมอที่มีทัศนคติและทักษะเรื่องวิจัยที่ดีขึ้นอีกสักนิด
ก็พยายามเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองมาตลอด จนได้มาบรรจุเป็นอาจารย์ระบาดวิทยาคลินิก ได้ทำงานร่วมกับพี่เพียวและทีมงานคุณภาพ แล้วเรื่องราวก็คล้ายๆ กับที่ทุกท่านทราบ หลังทำงานได้สามเดือน ผมเป็นมะเร็งปอดที่กระจายไปที่สมอง
ผมเข้ากระบวนการรักษาตาม แนวทางของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ต่อสู้กับผลข้างเคียงของมัน ผมคิดตลอดว่า ผมจะต่อสู้กับมันเพื่อให้ผมยังมีชีวิต เพื่อให้ผมได้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิต แบบที่เคยมีอีกสักสองสามปี ซึ่งตอนแรกก็ไม่รู้หรอกครับ รู้แค่ว่าจะใช้ชีวิตต่อจากนี้ให้มีค่ามากที่สุด แต่ก็ไม่รู้ว่าไอ้ชีวิตแบบนั้นมันคืออะไรกันแน่ แต่เมื่อใกล้ช่วงที่จะต้องสอนนักศึกษาแพทย์
ที่จริงผมจะไม่สอน ผมจะพักผ่อนก็ได้ ผมไม่จำเป็นต้องมานั่งเตรียมสไลด์ หรือฝึกพูดก็ได้ (อันนี้ตลกมากครับ ผมต้องฝึกพูดสำหรับการสอนใหม่ เพราะปอดผมไม่ชินกับการพูดนานๆ เป็นชั่วโมงแล้ว ต้องคุมเสียงให้อยู่ในโทนของการสอน ฝึกร้องเพลงเพื่อเพิ่มพลังปอด ให้เพียงพอที่จะทำให้คลาสสนุกได้อย่างน้อย 90 นาที ต้องอัปเดตเรื่องราวในสังคมเอาไว้เล่นมุกกับน้องด้วย)
แล้วก็ถึงวันที่ได้ไปยืนในหน้าชั้น ให้ห้องที่เราเคยนั่งอยู่บนมุมขวาหลังของห้องนั้น ได้กลับไปสอนในเรื่องที่ตัวเราเองเคยนั่งทำหน้างง และมีทัศนคติลบกับวิชานี้ ก่อนขึ้นไปโคตรตื่นเต้น ตอนแรกลังเลว่าจะใส่หมวกดีไหม หรือจะขึ้นไปแบบโล้นๆ แต่กลัวน้องจะเสียสมาธิ เลยเลือกใส่หมวกดีกว่า ตอนขึ้นไปยืนตอนแรกมีน้องๆ ยกมือถือมาถ่ายรูปด้วยครับ น่ารักมาก (เข้าใจความรู้สึกของหลินปิงก็วันนี้แหละครับ)
ผมได้รับโอกาสสอนร่วมกับพี่เฟิส และพี่เพียว การได้ขึ้นเวทีสอนคู่กับอาจารย์ไอดอลทั้งสองคนนี้ เป็นสิ่งที่มีค่ามากครับ ขอบคุณอีกครั้งครับ
โอเค ผมได้สอน มีน้องพยักหน้าตาม มีน้องพยายามตอบ มีน้องทำหน้าสงสัย ตอนที่สอนเสร็จ ก็มีน้องวิ่งขึ้นมาถามที่หน้าเวที อะไรพวกนี้มันสนุกมากๆ เลย คือมันอาจจะไม่ได้แปลว่า เรียนแล้วน้องจะชอบมัน หรือมันอาจจะออกมาแย่ คือน้องก็อาจเกลียดมันเหมือนเดิมก็ได้ แต่ผมได้ความสนุกของการสอนคลาสนั้นมาแล้ว ผมเชื่อว่าความตั้งใจแรกของหลายๆ ท่าน ที่สมัครเป็นอาจารย์ ก็คงเป็นเพราะอยากสอน อยากถ่ายทอด อยากเห็นศิษย์ได้ดี
น่าเสียดายที่องค์กรมหาลัยในบ้านเรา มักให้คุณค่ากับผลงานวิชาการ งานวิจัย impact factor สูงๆ ที่ทำให้อันดับของมหาวิทยาลัยสูงขึ้น การวัดผลอาจารย์ท่านหนึ่งว่าเป็น "อาจารย์ที่ยอดเยี่ยม" ด้วยสิ่งพวกนี้ จึงอาจเป็นส่วนที่ทำให้อาจารย์เองก็ต้องดิ้นรนให้ตัวเองมีผลงานวิชาการมากและดีที่สุดด้วยทุกวิธี
จนบางทีเหตุผลของการ ที่เริ่มมาเป็นอาจารย์ ก็อาจจะเลือนรางไป การตั้งใจดูแลคนไข้ ตั้งใจทุ่มเทสอนนักศึกษา ดูจะถูกลดความสำคัญลงไป "พี่ชอบสอนมากเลยว่ะ พี่ชอบสอนพวกเรามากๆเลย" อาจารย์ที่สอนและดูแลคนไข้โคตรดี ที่เคยสอนผมท่านหนึ่ง พูดกับผมก่อนที่เขาจะลาออกไป
ผมทราบดีว่าผมเป็นอาจารย์ใหม่ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีผลงานอะไรมากมาย เหมือนผู้ใหญ่หลายๆท่าน แต่นี่ก็เป็นเพียงความหวังเล็กๆ ของผมเท่านั้น ว่าวันหนึ่งจะมีการให้คุณค่ากับ "คุณภาพของการสอน รวมถึงความตั้งใจทุ่มเทของอาจารย์ ในการใส่ใจคนไข้และนักศึกษา" มากพอๆ กับผลงานวิชาการครับ
ช่วงต้นปีนี้มีช่วงที่ผมสอนติดกันทั้งสัปดาห์ ถึงจะเจ็บคอและหมดพลังทุกวันที่สอนเสร็จ แต่พอเริ่มสอน มันก็สนุกจนลืมเหนื่อย ลืมป่วยไปเลย ใช่ครับ มันเป็นชั่วโมงที่ ผมลืมไปเลยว่าผมมีก้อนในปอด และก้อนในหัว ที่พร้อมจะทำให้ผมขึ้นมาพูดมาสอนไม่ได้
การเป็นมะเร็งระยะแพร่กระจาย เราแทบไม่มีโอกาสหายขาดจากโรคนี้ครับ แต่การขึ้นไปสอน การเห็นแววตาของคนเรียน ช่วงเวลาชั่วโมงนิดๆ ตรงนั้น ผมรู้สึกว่าผมเป็นเพียงอาจารย์ของนักเรียนตรงหน้า ไม่มาก ไม่น้อยไปกว่านั้นครับ
ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่า การทำงานสอน จะมอบช่วงเวลาที่มีชีวิตให้กับผมได้ "ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต จะยังออกไปทำงานนี้อยู่ไหม"
"อยากครับ" ถึงจะทำได้อีกไม่นาน แต่ถ้าผมยังสอนได้ ผมอยากจะสอนต่อไป เท่าที่ผมจะยังทำไหว นี่คงเป็นคำตอบ ของ งานที่ผมจะอยากทำไปตลอดชีวิต มั้งครับ ผมว่าคนเราใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต ไปกับการทำงาน ถ้างานที่เราทำนั้น มันทำให้เราสนุก และอยากออกไปทำมันในทุกๆ วัน ก็คงดีนะครับ
สำหรับคนที่กำลังเหนื่อยกับงาน ผมอยากชวนคิดทบทวนถึงวันแรกที่มาเริ่มงานนี้ ความท้าทาย ความตื่นเต้นสมัยเริ่มงานใหม่ๆ เป้าหมายของการมาทำงานคืออะไร มันคงจะดีครับ ถ้าเรายังคงทำงานเดิมนั้น ด้วยฝีมือและประสบการณ์ที่สะสมมา แต่ไม่ลืมที่จะสนุกกับมันเหมือนวันแรกๆ
แต่ถ้าทบทวนแล้วยังไงก็ไม่เหลือความสนุกอะไรอยู่เลย ถ้างานที่ทำอยู่นี้ไม่ตอบสักเป้าหมายในชีวิตเราแล้ว ก็ลองมองหาทางเลือกหรือโอกาสอื่นๆดูไหมครับ ชีวิตเรามันสั้นและจำกัดมาก ใช้มันไปกับสิ่งที่ใช่ดีกว่าครับ หวังว่าทุกท่าน จะสนุกกับชีวิตการทำงานครับ.
ขอบคุณข้อมูลจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก สู้ดิวะ