• สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า "โรคปวดหลังทุกชนิด" มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึง 33.29%
  • แนะปรับพฤติกรรม จะสามารถลดอัตราการเกิด "โรคกระดูกสันหลัง" ได้
  • วิธีการรักษา "โรคกระดูกสันหลัง" ด้วยเทคนิค PSLD

จากสถานการณ์โรคที่เกี่ยวข้องกับ "กระดูกสันหลัง" และ "ระบบประสาท" ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่ม "มนุษย์ออฟฟิศ" ที่ต้องเร่งรีบในการทำงาน หรือนั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า "โรคปวดหลังทุกชนิด" มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 33.29 และพบว่าสูงสุดในกลุ่มอาชีพรับจ้างทั่วไป, พนักงานเอกชน รองลงมา คือ กลุ่มทำงานภาคเกษตรกรรม โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุที่พบมากคือ 45-54 ปี รองลงมาช่วงอายุ 55-64 ปี

ส่วนสาเหตุของ "โรคกระดูกสันหลัง" ที่มักพบได้มากในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ เนื่องจากพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยไม่ได้ขยับตัวหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการตึงและอักเสบได้

...

นพ.ศรัณย์ จินดาหรา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์เนิร์ฟ กล่าวว่า หากมีการปรับพฤติกรรมจะสามารถลดอัตราการเกิดโรคกระดูกสันหลังได้ เช่น การจัดท่าทางในการใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โดยการเสริมจอคอมพิวเตอร์ให้สูงขึ้น และขยับจอมาชิดตัวเราในท่าที่พอดีไม่ต้องก้มเงยมากเกินไป ส่วนเก้าอี้ทำงานถือเป็นส่วนสำคัญไม่ต่างจากจอคอมพิวเตอร์ เพราะเก้าอี้ที่ดี ควรรับสรีระของเราได้ ต้องมีที่พักแขน มีพนักบริเวณคอ ทำให้คอเราสบายขึ้น

อีกส่วนสำคัญที่หลายคนมักลืม คือ การนั่งทำงานควรมีหมอนซัพพอร์ตหลังเพื่อสรีระที่ดี โดยรวมเราควรมองเห็นหน้าจอคอมพิวเตอร์ในลักษณะหน้าตรงให้มากที่สุด และควรเปลี่ยนอิริยาบถในขณะทำงาน โดยลุกเดินอย่างน้อยทุก 1-2 ชั่วโมง หรือหากใช้โน้ตบุ๊ก ต้องมีอุปกรณ์เสริมช่วยในการวางโน้ตบุ๊กให้ตั้งตรง ที่สำคัญควรต้องมีคีย์บอร์ดที่แยกต่างหาก

รวมทั้งการปรับสภาพแวดล้อม จัดโต๊ะเก้าอี้และคอมพิวเตอร์ในการทำงาน ถือเป็นวิธีหนึ่งที่แพทย์แนะนำเพื่อลดความเสี่ยง แต่หากเกิดภาวะเจ็บป่วยแล้ว การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายถือเป็นการรักษาในระยะเริ่มต้นวิธีหนึ่ง แต่บางรายเมื่อแพทย์พบว่ามีอาการปวดเรื้อรัง สุดท้ายต้องเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

ปัจจุบัน การรักษาโรคกระดูกสันหลังมีด้วยกันหลายวิธี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เทคนิค PSLD (Percutaneous Stenoscopic Lumbar Decompression) ถือเป็นเทคนิคที่ดีและปลอดภัยสูง ซึ่งในประเทศไทยการรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากขาดบุคลากรในการใช้ และแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญมีน้อยมาก

สำหรับเทคนิคดังกล่าวคือ การส่องกล้องรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ เป็นการส่องกล้องรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลัง โดยแพทย์จะสอดกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic decompression) ผ่านทางแผลผ่าตัดขนาด 5.0 มิลลิเมตร โดยเลนส์ของกล้องเอ็นโดสโคป (Endoscopic decompression) จะอยู่ที่ปลายกล้อง เปรียบเสมือนดวงตาอยู่ในตัวผู้ป่วย

ดังนั้น จะทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจน แม่นยำ เลือกตัดออกเฉพาะส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาได้ โดยไม่ต้องตัดเลาะกล้ามเนื้อส่วนที่ดีออก แต่ได้ผลการรักษาดีเทียบเท่าการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งแต่เดิมจะต้องตัดกระดูกและกล้ามเนื้อออก ทำให้มีแผลขนาดใหญ่ ฟื้นตัวช้า นอนโรงพยาบาลหลายวัน อาจจะต้องให้เลือดและมีความเสี่ยงสูง

แต่สำหรับทางเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ จะมีข้อดี คือ แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก เพียง 0.5 เซนติเมตร สูญเสียเลือดน้อย ฟื้นตัวเร็ว หลังจากการผ่าตัดสามารถลุกขึ้นได้ และนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืนก็กลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีส่วนช่วยคุณภาพชีวิตของคนยุคนี้ให้ดีขึ้น เพราะในอดีตการผ่าตัดกระดูกสันหลังถือเป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อน เนื่องจากส่วนหลังของคนเรา นอกจากมีกระดูกสันหลังแล้ว ยังมีเส้นประสาทที่สำคัญ รวมถึงเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำใหญ่อีกด้วย หากศัลยแพทย์ไม่มีความชำนาญ อาจเกิดความผิดพลาด จนทำให้ผู้ป่วยต้องเป็นอัมพาตได้.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun