• ที่มาของ "พีธีทอดกฐิน" ผ้าไตรจีวรผืนพิเศษ ที่สาธุชนถวายแด่พระสงฆ์ในช่วงวันออกพรรษา 
  • ประเภทของกฐิน และอานิสงส์ของการสั่งสมบุญครั้งใหญ่ ตามความเชื่อของชาวพุทธ
  • ทำความเข้าใจ "ทอดกฐิน" กับ "ทอดผ้าป่า" แตกต่างกันอย่างไร

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากผ่านพ้นช่วงออกพรรษา จะเป็นโอกาสอันดีที่ชาวพุทธจะได้ร่วมกันทำบุญครั้งใหญ่ ในการทอดกฐิน พิธีบุญเสริมสร้างความสามัคคีที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ทำให้ผู้มีจิตศรัทธาต่างเชื่อกันว่า หากได้ทอดกฐิน จะได้รับอานิสงส์ผลบุญที่ยิ่งใหญ่ ช่วยเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ชีวิต และส่งผลให้ผู้ทำประสบความสำเร็จทั้งในชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป

สำหรับการทอดกฐินนั้น ถือเป็นประเพณีเก่าแก่ที่อยู่คู่กับพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย จวบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง "พิธีกรรมสำคัญที่ช่วยธำรงศาสนาให้คงอยู่"

...

กฐิน คืออะไร

กฐิน คือ ผ้าไตรจีวรผืนใหม่ สำหรับพระสงฆ์ที่ได้รับถวายจากพุทธศาสนิกชน นำมาใช้นุ่งห่มในช่วงหลังออกพรรษา โดยมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี แปลว่า "ไม้สะดึง" หรือ "กรอบไม้" ที่ใช้สำหรับขึงผ้าเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ

สำหรับพิธีที่ถวายจีวรให้กับพระสงฆ์นั้น มีชื่อเรียกว่า "การทอดกฐินมีจุดประสงค์ที่ทำขึ้นเพื่อสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ และอนุเคราะห์ให้ภิกษุได้เปลี่ยนจีวรใหม่ จากของเดิมที่เก่า หรือชำรุด โดยจะจัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น และกำหนดระยะเวลาชัดเจน เรียกว่าเป็น "กฐินกาล" หรือ "หน้ากฐิน" คือ หลังออกพรรษา 1 เดือน เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 

ความเป็นมาของกฐิน

ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับที่ พระเชตวนาราม เมืองสาวัตถี ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้า แต่ยังไม่ทันถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน จึงหยุดจำพรรษาในระหว่างทางที่เมืองสาเกต หลังจากออกพรรษาก็รีบพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที

แต่ช่วงเวลานั้นยังมีฝนตกมาก ตามพื้นเต็มไปด้วยโคลน ทำให้ผ้าสบงจีวรของเหล่าภิกษุเปียกน้ำและเปื้อนโคลน หาผ้าเปลี่ยนไม่ได้ พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากของพระภิกษุเหล่านั้น จึงอนุญาตให้พระภิกษุสามารถหาผ้าจีวรมาเปลี่ยนได้ เมื่อนางวิสาขามหาอุบาสิกา ทราบเรื่อง จึงนำผ้ากฐินไปถวายให้แด่พระสงฆ์ จากนั้นประชาชนก็ปฏิบัติตามเรื่อยมาจนกลายประเพณีทอดกฐิน

"ทอดกฐิน" การสร้างมหากุศลครั้งใหญ่

แม้ในศาสนาพุทธจะมีพิธีและประเพณีมากมายที่หลายคนสามารถร่วมทำบุญเพื่อบารมี แต่สำหรับ "การทอดกฐิน" คือหนึ่งในประเพณีนิยม ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญ ในการบำเพ็ญกุศล จากความเชื่อที่ว่า หากได้เป็นเจ้าภาพ หรือร่วมทอดกฐิน นับว่าโชคดีที่ได้สั่งสมบุญครั้งใหญ่ เนื่องจากมีความพิเศษต่างจากการทำบุญให้ทานอื่นๆ ดังนี้

  • เป็นกาลทานจัดขึ้นเพียงปีละครั้ง โดยต้องถวายในช่วงระยะเวลาที่กำหนด คือ 1 เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไปเท่านั้น คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
  • เป็นการทำบุญแบบสังฆทาน เมื่อถวายแล้ว ไม่สามารถเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่น
  • ได้ทำบุญกับภิกษุที่มากบารมี เพราะกำหนดให้ภิกษุที่รับถวาย ต้องถือครองพรรษาในวัดครบ 3 เดือน และจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป
  • จำกัดไทยธรรม คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้
  • เป็นพระบรมพุทธานุญาต ที่พระพุทธเจ้าแจ้งความประสงค์โดยตรง ไม่เหมือนทานอย่างอื่น ยกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่น การขอถวายผ้าอาบน้ำฝน

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทอดกฐินในปัจจุบันนั้นแตกต่างไปจากเดิม คือไม่ได้มุ่งเน้นที่การถวายผ้ากฐิน เพื่อสนับสนุนผ้าไตรจีวรของพระสงฆ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญ กับปัจจัยที่เป็นเงิน หรือวัตถุสิ่งของในพิธีกฐินถวายแทน เพราะสามารถนำมาพัฒนาถาวรวัตถุและ ซ่อมแซมวัดวาอารามได้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ และให้พระพุทธศาสนาคงอยู่สืบไป

อานิสงส์ของการทอดกฐิน

  • ทำให้เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์สินมาก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
  • ทำให้เป็นผู้มีจิตใจแจ่มใส บริสุทธิ์ และผ่องใสอยู่เสมอ
  • ทำให้เป็นผู้มีจิตใจตั้งมั่น เป็นสมาธิ และเข้าถึงธรรมได้ง่าย
  • ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถใช้สร้างบุญกุศล ให้ติดตัวไปในภพเบื้องหน้าได้อย่างเต็มที่
  • ทำให้เป็นคนรูปงาม ผิวพรรณงาม เป็นที่รักของคนทั่วไป
  • ทำให้เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติคุณ น่ายกย่องสรรเสริญ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา น่าเคารพนับถือ
  • ทั้งนี้ยังเป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบถ้วน ให้ได้รับอานิสงส์ตามพุทธบัญญัติ

ประเภทของกฐิน 

1. กฐินหลวง

กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายเป็นประจำ ณ วัดหลวงสำคัญๆ แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  • กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี เป็นกฐินหลวงที่มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไว้อย่างเรียบร้อย
  • กฐินต้น เป็นกฐินส่วนพระองค์ ที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทอด พระราชทานแก่วัดใด โดยไม่ได้ไปอย่างเป็นทางการ
  • กฐินพระราชทาน เป็นกฐินหลวงที่โปรดพระราชทานให้แก่หน่วยงานข้าราชการ คฤหบดี และผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานผ้ากฐินนำไปทอดถวาย ณ พระอารามหลวงแห่งใดแห่งหนึ่ง

2. กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ราษฎร หรือประชาชน ผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอด ณ วัดต่างๆ แบ่งได้เป็น 4 แบบ ดังนี้

  • จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น เป็นกฐินที่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภาพในวันเดียว ตั้งแต่การเก็บฝ้าย ทอผ้า และการถวาย เชื่อว่าหากทำแล้วจะได้อานิสงส์มาก แต่ปัจจุบันไม่นิยม เพราะต้องแข่งกับเวลา และต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธา จำนวนมาก
  • กฐิน หรือมหากฐิน เป็นการทอดกฐินที่มีบริวารกฐินมากถวายวัดที่ตนศรัทธาเป็นการเฉพาะ โดยจะเน้นถวายบริวาร เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคของพระภิกษุสงฆ์ อุปกรณ์ทำความสะอาด อาหาร ยาต่างๆ เป็นต้น โดยจะเป็นเจ้าภาพเพียงคนเดียว หรือเป็นกฐินสามัคคีก็ได้
  • กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะมีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน จะให้ความสำคัญกับการรวบรวมเงินและสิ่งของ เพื่อเข้าประกอบเป็นบริวารกฐินมากกว่าผ้ากฐิน เนื่องจากได้ร่วมทำบุญแล้วยังสามารถนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณปฏิสังขรณ์โบสถ์ เพื่อทำนุบำรุงศาสนาได้
  • กฐินตกค้าง หรือ กฐินโจร เป็นกฐินที่จัดขึ้นในวัดตกค้าง ไม่มีใครไปทอด ผู้
    มีจิตศรัทธาก็จะนำกฐินไปทอด ซึ่งมักจะเป็นวันใกล้สิ้นเทศกาลกฐิน หรือวันสุดท้าย ต่างกับกฐินอื่นคือ ไม่มีการจองล่วงหน้า และจะทอดเฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด ทั้งนี้ยังสามารถเอาของไทยธรรมที่เหลือจากวัดไปจัดเป็นผ้าป่าได้ เรียกว่า "ผ้าป่าแถมกฐิน"

โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่า "การทอดกฐิน" นั้นคือพลังบุญใหญ่จากความต้องการของชาวพุทธ ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมใจกันทำบุญ ผ่านเพื่อความสามัคคีให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งนับได้เป็นประเพณีที่ดีงาม และควรอนุรักษ์จรรโลงไว้ ให้ชนรุ่นลูกรุ่นหลาน ได้นับถือสืบทอดตลอดไป

ผ้าป่า คืออะไร

ผ้าป่า เป็นบังสุกุลที่ไม่มีเจ้าของ เป็นผ้าเก่า หรือผ้าเปื้อนที่ถูกทิ้ง หรือพาดไว้ตามกิ่งไม้ในป่า ซึ่งพระสงฆ์จะหยิบไปใช้ในการทำจีวร บางครั้งก็เป็นผ้าที่ชาวบ้านตั้งใจนำไปถวายไว้ โดยไม่มีกล่าวคำถวาย หรือประเคนเหมือนถวายของทั่วไป ซึ่งพิธีการดังกล่าวจะเรียกว่า "ทอดผ้าป่าเป็นการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของชาวพุทธ ที่คล้ายกับพิธีทอดกฐิน แต่สามารถจัดได้ตลอดทั้งปีตามกำลังศรัทธา

ที่มาของ "การทอดผ้าป่า"

ในอดีต "พระภิกษุ" จะไม่สามารถรับจีวรที่ชาวบ้านถวายได้ จึงต้องเที่ยวเก็บผ้าที่ชาวบ้านทิ้งไว้ตามป่าช้า หรือหาเศษผ้าที่ทิ้งตามกองขยะมาใช้ เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ผ้าที่ห่อศพ ฯลฯ เมื่อรวบรวมได้มากพอก็จะนำมาทำความสะอาด ตัดเย็บ ย้อม เพื่อทำเป็นจีวรสบง

เมื่อชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์ แม้จะต้องการนำผ้ามาถวาย แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังไม่มีพุทธานุญาตโดยตรง จึงนำผ้าไปทอดทิ้งไว้ ณ ที่ต่างๆ เช่น ตามป่าช้า หรือข้างทางเดิน เมื่อภิกษุสงฆ์มาพบก็นำไปใช้ กลายเป็นที่มาของการทอดผ้าป่า

ต่อมาในสมัย ร.4 ได้รื้อพิธีทอดผ้าป่า เนื่องจากจะรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีในทางพระศาสนา ทำให้ประชาชนถวายผ้าให้แก่พระสงฆ์ได้ตามสะดวก โดยการถวายผ้าดีๆ ทำเป็นจีวรสำเร็จรูปไปพาดไว้ในป่า หรือจะนิมนต์พระให้มาชักผ้าป่าก็ได้ ปัจจุบัน "ผ้าป่า" จึงหมายถึงผ้าที่สมมติว่าตกอยู่ทอดทิ้งอยู่ในป่า 

การทอดผ้าป่าในปัจจุบัน

ทุกวันนี้หากจะทำพิธีทอดผ้าป่า ไม่จำเป็นจะต้องนำผ้าพาดไว้บนกิ่งไม้แล้วทิ้งไว้ พระรูปใดมาพบเข้าก็ชักเอาไป เพราะสามารถนิมนต์พระให้มาชักผ้าป่า หรือนำกิ่งไม้มาปักไว้ในกระถาง จากนั้นก็นำผ้ามาผูกแขวนไว้ และถวายสิ่งของเครื่องให้พระได้เลย

ทั้งนี้ ยังได้มีการต่อยอดไปทอดที่โลงศพ หรือทอดบนสายโยงศพ เพื่อให้พระชักผ้านั้นไป เป็นการอุทิศกุศลให้แก่ผู้ตายอีกด้วย

ประเภทของการทอดผ้าป่า

การทอดผ้าป่าทำได้หลายรูปแบบ แต่ที่ได้รับความนิยมมีชื่อเรียกดังนี้

  1. ผ้าป่าหางกฐิน ผ้าป่าที่เจ้าภาพจัดขึ้นต่อจากการทอดกฐิน หรือเรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐิน
  2. ผ้าป่าโยง ผ้าป่าที่จัดทำรวมๆ กันหลายกอง นำบรรทุกเรือแห่ไปทอดตามวัดต่างๆ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำ จะมีเจ้าภาพเดียว หรือหลายเจ้าภาพก็ได้
  3. ผ้าป่าสามัคคี ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นผ้าป่าที่มีการแจกบุญไปตามสถานที่ต่างๆ ให้ร่วมกันทำบุญแล้วแต่ศรัทธา โดยจัดเป็นกองผ้าป่ามารวมกัน เมื่อถึงวันทอดจะมีขบวนแห่ผ้าป่ามารวมกันที่วัดอย่างสนุกสนาน บางทีจุดประสงค์ก็เพื่อร่วมกันหาเงินสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และอื่นๆ

"ทอดกฐิน" กับ "ทอดผ้าป่า" แตกต่างกันอย่างไร 

พิธีทอดกฐิน และทอดผ้าป่า เป็นการทำบุญแบบเป็นสังฆทานด้วยกัน ซึ่งอาจมีรูปแบบและชื่อที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันดังนี้

ทอดกฐิน

  1. เป็นกาลทาน เป็นการทำบุญที่จัดขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น
  2. มีระยะเวลาในการจัดชัดเจน คือ หลังจากวันออกพรรษาจนก่อนถึงวันลอยกระทง (แรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)
  3. พระสงฆ์ที่ถวายกฐิน จะต้องจำพรรษาครบ 3 เดือน 
  4. วัดที่รับทอดกฐินจะต้องมีพระสงฆ์จำพรรษาอย่างน้อย 5 รูป
  5. ชาวพุทธเชื่อกันว่า "หากได้ทอดกฐิน จะได้รับอานิสงส์สูง"

ทอดผ้าป่า

  1. เป็นการทำบุญ ที่สามารถทำได้ตลอดปี ไม่จำกัด ตามเวลาและโอกาศที่สะดวก
  2. มีรูปแบบการทำบุญที่หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่วัด
  3. ไม่จำกัดจำนวนพระสงฆ์ในวัด แต่ต้องมีอย่างน้อย 1 รูปมาทำพิธี โดยมาชักผ้าบังสุกุลนั้น
  4. รูปแบบของการจัดพิธีผ้าป่ามีความหลากหลาย โดยเฉพาะในกรณีของ ผ้าป่าสามัคคี อาจจะตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ที่นอกเหนือจากการทำบุญให้วัด เช่น ผ้าป่าเพื่อการศึกษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองพิธีจะมีความแตกต่างกันมากเพียงใด หากเราจะร่วมงานประเพณีไหน ขอแค่มีใจศรัทธาและจิตที่เป็นกุศล ก็ล้วนเป็นงานบุญที่สร้างความดีงามในจิตใจ และส่งต่อให้ผู้อื่นทั้งสิ้น อีกทั้งจะช่วยดำรงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไปอีกด้วย.

ผู้เขียน : PpsFoam
กราฟิก : วรัญญา แผ่อารยะ