• เช็กอาการหลัก 3 ข้อ ที่มาของคำว่า "ภาวะหมดไฟ"
  • คำแนะนำในการจัดการกับภาวะหมดไฟ
  • สร้างทักษะ มองหาแรงบันดาลใจ แก้ภาวะหมดไฟให้สิ้นสุด


"พรุ่งนี้วันจันทร์แล้วเหรอ?"

"เฮ้อ ต้องทำงานอีกแล้ว"

เบื่องาน เนือยๆ ไม่มีสมาธิ ไม่อยากทำอะไรเลย ความกระตือรือร้น และ Passion ที่เคยมีหายจ๋อมไปกับวังวนความเหนื่อยล้า จนเป็นที่มาของคำว่า ภาวะหมดไฟ คำกล่าวที่คนทำงานในปัจจุบันต่างคุ้นเคยกันดี ซึ่งบางคนอาจกำลังประสบกับภาวะดังกล่าวอยู่ จนบ่อยครั้งที่ภาวะหมดไฟส่งผลกระทบแง่ลบต่อหน้าที่การงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวัน จนไปถึงความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และเมื่อถึงคราวที่ภาวะหมดไฟมาทักทาย อาจทำให้คนทำงานเสียกำลังใจและแรงบันดาลใจไปได้ง่ายๆ

โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด จนส่งผลกระทบที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง สร้างการสูญเสียมากมายอย่างประเมินค่าไม่ได้ หลายธุรกิจจำเป็นต้องปรับลดจำนวนพนักงาน หรือปิดตัวลง คนทำงานถูกเลิกจ้างงานกะทันหัน และต้องสู้หางานอย่างไร้จุดหมาย จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจหากคนทำงานจะหมดกำลังใจและเผชิญภาวะหมดไฟได้ง่ายกว่าที่เคย

...

อาการหมดไฟ หรือ Burnout ถูกจัดอยู่ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 (International Classification of Diseases (ICD)) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ยอมรับแล้วว่าเป็น "ภาวะ" อย่างหนึ่งที่ควรได้รับการรักษา เนื่องจากภาวะนี้เกิดจากความเครียด ความกดดันจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่สะสมมาระยะเวลาหนึ่ง และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจนเกิดอาการหมดไฟ โดยมีอาการหลัก 3 ข้อ ดังนี้

1. รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง

2. รู้สึกกับงานในทางลบ หรือ ไม่รู้สึกยินดียินร้ายไปเลย

3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

ขณะที่หลายคนเข้าใจว่า การเผชิญภาวะหมดไฟ คือ คนที่ทำงานมาอย่างยาวนานจนต้องเผชิญกับอาการดังกล่าว แต่แท้จริงแล้ว ภาวะหมดไฟ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์กับคนทำงานทุกวัย เริ่มตั้งแต่ First Jobber ไปจนถึงพนักงานระดับหัวหน้า ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง

ส่วนสาเหตุดังกล่าวสามารถเริ่มตั้งแต่ปัญหาจิปาถะเล็กน้อย อย่างการไม่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ไม่สามารถกำหนดตารางงานและรับผิดชอบงานของตนเองได้ ไปจนถึงการไม่รู้สึกผูกพันและไม่มีเป้าหมายร่วมไปในทิศทางเดียวกับองค์กร หรือแม้กระทั่งการไม่ได้รับโอกาสทำงานที่ถนัด การถูกมองข้ามความคิดเห็น รวมไปถึงปัญหาสุดคลาสสิกอย่างความไม่สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและงาน ปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน ทั้งยังบั่นทอนจิตใจ ส่งผลให้สูญเสียความมั่นใจในตนเองและความเชื่อมั่นต่อองค์กร กระทบต่อความพร้อมในการทำงานในที่สุด

คำแนะนำในการจัดการกับ "ภาวะหมดไฟ"

1. จัดการกับตัวเอง

  • พักผ่อนให้เพียงพอ นอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง การชาร์จแบตให้ร่างกายอย่างเต็มที่คือกุญแจสำคัญ
  • ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เพราะความเครียดเป็นเรื่องธรรมชาติ ในเมื่อคุณเป็นคนที่ใส่ใจและขยันทำงาน คุณก็จะทำได้ดีในการใส่ใจและรักตัวเองเช่นกัน ดังนั้นควรให้รางวัลตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะอยากนั่งเฉยๆ เดินไปเรื่อยๆ นอนอุตุดูหนัง ฟังเพลง หรือช็อปปิ้ง คุณก็สามารถทำได้ ถือเป็นรางวัลให้กับตัวเองที่ตั้งใจทำงานมาตลอด
  • พูดคุย ขอคำปรึกษา คุณสามารถพูด หรือบอกกับคนอื่นๆ ได้ ว่าคุณรู้สึกหมดแรง หรือเบื่อ หรือถ้าหากคุณรู้สึกว่าอาการของคุณรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทำได้เช่นกัน

2. จัดการกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน

  • สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงาน เพื่อให้มีทิศทางในการทำงานชัดเจนขึ้น ยิ่งมีเป้าหมาย ก็ยิ่งมีกำลังใจ
  • สร้างความมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงาน เพื่อให้สถานที่ทำงานทำให้ผู้ทำงานรู้สึกสบายใจมากขึ้น เช่น ร่วมโหวตสถานที่ท่องเที่ยวประจำปีของบริษัท หรือโหวตเมนูอาหารใหม่ในโรงอาหารที่อยากกิน
  • นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงาน เพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม

หมดไฟท่ามกลางวิกฤติ ต้องมองให้เห็นโอกาส

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงผลสำรวจรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2565 บนแพลตฟอร์มของจ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) ในปีที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์/ไอที (Computer/IT) คือ อุตสาหกรรมที่ประกาศรับสมัครงานสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ส่วนในด้านของสายงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด วัดจากจำนวนประกาศรับสมัครงานรวมทุกอุตสาหกรรมคือ สายงานด้านการขายและการตลาด (Sales/Marketing)

และยังพบว่า หลายสายงาน อาทิ สายงานไอที, สายงานขาย, งานบริการลูกค้า และ งานการตลาด รวมถึงงานการศึกษาและการฝึกอบรม และสายงานสุขภาพและความงาม ได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าตอบแทนผันแปรไปตามความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรคระบาด การถูกจำกัดกิจกรรมทางธุรกิจ ตลอดจนการเลิกจ้างงานกะทันหัน ถือเป็นตัวจุดประกายครั้งสำคัญให้เหล่าผู้ประกอบการและแรงงานปรับมุมมองกลับมาเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางการงานและการเงินมากขึ้น แรงงานจำนวนไม่น้อยทั่วโลกหันมาพัฒนาทักษะดิจิทัลที่กำลังเป็นที่ต้องการ เพื่อมองหาลู่ทางใหม่ในอุตสาหกรรม หรือสายงานที่มีแนวโน้มเติบโต

โดยจากสถิติ ผลสำรวจรายงาน "ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล" ได้สำรวจแรงงานผู้ที่มีทักษะดิจิทัลกว่า 9,000 คน ในหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, เดนมาร์ก รวมถึงประเทศไทย พบว่า 63% ของผู้ที่มีทักษะดิจิทัลกำลังมองหาโอกาสงานใหม่ในบทบาทอื่นที่ดีกว่าเดิม ในขณะที่ 49% ต้องการความท้าทายใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะพบว่า อัตราการว่างงานทั่วประเทศอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่น่าสนใจมากว่าจำนวนคนทำงานที่เผชิญกับภาวะหมดไฟกลับสวนทางและเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อยากให้เหล่าคนทำงานมองเรื่องภาวะหมดไฟ เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ ใช้ประโยชน์จากผลสำรวจควบคู่กับการมองหาโอกาสท่ามกลางสถานการณ์และความไม่แน่นอนที่เผชิญ เพื่อพัฒนาทักษะและคุณสมบัติให้เพียงพอสำหรับงานที่มีความมั่นคงกว่าเดิม ทั้งในแง่ของโอกาสในการเติบโตในองค์กร และในแง่ของอัตราค่าตอบแทนในอนาคต

สร้างทักษะ มองหาแรงบันดาลใจ แก้ภาวะหมดไฟให้สิ้นสุด

สุดท้ายนี้ ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอยู่ตลอด การปล่อยให้ตนเองเผชิญกับภาวะหมดไฟบ่อยครั้ง อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด นอกเหนือจากการศึกษา ฝึกทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ เรายังสามารถเพิ่มความสุขในการทำงาน เพื่อลดอาการหมดไฟได้ง่ายๆ ผ่านการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของภาวะหมดไฟ หรือการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ อาทิ การตั้งเป้าหมายใหม่ การค้นหาแรงบันดาลใจและความท้าทายใหม่ การสร้างสภาพแวดล้อม และเริ่มต้นออกเดินทางไปยังสถานที่แห่งใหม่ หรือการหางานอดิเรกใหม่ ซึ่งท้ายที่สุดอาจนำไปสู่การเดินทางบนเส้นทางงานใหม่ที่นำพาไปสู่การประสบความสำเร็จที่ดีได้.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB