บีทีเอส (BTS) ย้ำผู้โดยสาร ห้ามดึงคันโยกฉุกเฉิน หลังมีเหตุ หญิงดึงเพราะขึ้นรถไฟฟ้าผิด ทำให้ชะงักทั้งขบวน แนะกดปุ่ม PCU สื่อสารกับพนักงานห้องควบคุม หากมีเหตุฉุกเฉินจริงๆ หรือคนเป็นลม
จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง แชร์ข้อความ ระบุอ้างว่า มีป้าคนหนึ่ง ดึงคันโยกฉุกเฉินบนรถไฟฟ้าบีทีเอส 3-4 ครั้ง เพราะขึ้นผิดขบวน พอประตูเปิดออกก็วิ่งออกไปทันที ทำให้ชะงักกันไปหมด ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก
ต่อมา รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้โพสต์ข้อความ ถึงกรณีดังกล่าว ว่าขึ้นขบวนรถไฟฟ้าผิดฝั่งไม่เป็นไร ลงสถานีถัดไปเปลี่ยนเส้นทางได้ แต่งดดึงคันโยกฉุกเฉิน
เนื่องจากคันโยกฉุกเฉิน (PER - Passenger Emergency Release พี อี อาร์) ใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ต้องการให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือต้องการเปิดประตูเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น
การดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER) จะไม่ทำให้ขบวนรถหยุดทันที แต่จะหยุดเมื่อถึงสถานีถัดไป และส่งผลให้การเดินรถเกิดความล่าช้า เพราะเจ้าหน้าที่จะต้องรีเซตขบวนรถใหม่
แต่ในขบวนรถจะมีปุ่มกระดิ่ง (PCU - Passenger Communication Unit พี ซี ยู) ที่สามารถกด เพื่อติดต่อพูดคุยกับพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าโดยตรง ในการขอความช่วยเหลือ เมื่อพบคนเป็นลม หรือแจ้งเหตุในขบวนรถ
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้เน้นย้ำว่า หากพบเหตุฉุกเฉินในขบวน คนเป็นลม ผู้ป่วย ในขบวนรถ โปรดกดปุ่มกระดิ่งแจ้งเจ้าหน้าที่ และงดดึงคันโยกฉุกเฉิน (PER).
...
ที่มาจาก เฟซบุ๊ก รถไฟฟ้าบีทีเอส