"อ.ธรณ์" เตือนประชาชน เตรียมรับมือ "พายุโนรู" ไว้ล่วงหน้าก่อนเข้าไทย พร้อมแนะหลักการง่ายๆ มองโลกแง่ร้าย เพื่อหาวิธีป้องกัน และรับมือกับปัญหาภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

วันที่ 27 กันยายน 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้ความรู้กรณี พายุไต้ฝุ่นโนรู โดยระบุว่า ดูภาพดาวเทียมล่าสุดของไต้ฝุ่นโนรูแล้วเริ่มหนักใจ พายุทวีกำลังมากขึ้นในทะเล ก่อนเข้าสู่ชายฝั่งเวียดนาม เหตุผลสำคัญคือน้ำทะเลในทะเลจีนใต้ร้อน ดูจากข้อมูลทุ่นกระแสสมุทร และจากที่อื่นๆ ช่วงนี้อยู่ที่ 29-30 องศา

น้ำร้อนมีผลโดยตรงกับไต้ฝุ่น น้ำยิ่งร้อนยิ่งส่งพลังงานให้พายุแรงขึ้น น้ำร้อนยังทำให้ไอน้ำมากขึ้น ฝนย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา

เวียดนามเพื่อนบ้านเราเตรียมตัวแล้ว ของเขาเจอเต็มๆ ต้องอพยพกันยกใหญ่ แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะคงเจอฝนหนักในบริเวณกว้าง จะอพยพล่วงหน้านานๆ ก็ยากหน่อย เพราะเดาไม่ถูก ว่าตกกระหน่ำตรงไหนบ้าง ต้องใช้การเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงสั้นๆ

เพราะฉะนั้น จึงอยากให้เตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่คาดว่าฝนหนัก เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ฯลฯ ที่คงตามข่าวจากหลายช่องทางได้ ใครอยู่ในที่เสี่ยง เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลอง ใกล้ทางน้ำที่ลงมาจากเขา ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า น้ำป่ามาเร็ว ดินถล่มยังเป็นอีกภัยต้องระวัง ใครอยู่ริมทางชัน ร่องเขา เตรียมตัวให้พร้อม

...

การเตรียมตัวให้มากที่สุดเป็นเรื่องสมควร ต่อให้ไม่เกิดอะไร ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิด เรารอดได้ เพราะการเตรียมตัว หลักการง่ายๆ ของการบริหารความเสี่ยงคือ Worst-case scenario คิดในทางเลวร้ายที่สุดเข้าไว้

น้ำทะลักเข้าบ้าน รถเราจะจมไหม ไฟฟ้าดูดไหม เด็กเล็กคนแก่ไปอยู่ไหน เรามีน้ำกินข้าวกินหลายวันหรือไม่ ไฟดับทำไง มือถือชาร์จเต็มไหม ทางขาดต้องติดอยู่หลายวันเอาไงดี ยังรวมถึงการบอกคนอื่นว่าเราอยู่ไหน เกิดอะไรจะติดต่อกันได้ ช่วยกันทัน โดยเฉพาะคนที่ไม่อยู่บ้าน ไปเที่ยวเข้าป่า ต้องบอกให้คนอื่นทราบ

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำได้ โดยเริ่มจากนั่งนิ่งๆ แล้วค่อยๆ คิด worst-case ที่อาจเกิดกับเรา ลองลิสต์ไว้เป็นข้อๆ ก็ได้ แล้วค่อยให้น้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ที่สำคัญในยุคโลกร้อน สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อย่าเอาอดีตมาตัดสินปัจจุบัน เพราะที่โดนกัน ก็ได้แต่บอกว่าไม่เคยพบเคยเห็น

climate change ชื่อก็บอกแล้วว่ามันเปลี่ยน มันไม่เหมือนเดิม มันถึงเป็นปัญหา การมองโลกในแง่ร้าย เป็นเรื่องที่ทำเป็นประจำ ในกรณีของภัยพิบัติ มองให้ยิ่งร้ายยิ่งดี และสำคัญสุดตนเป็นที่พึ่งแห่งตน รอบคอบไว้ล่วงหน้า ยังพอมีเวลาให้คิดให้ เตรียมตัวอีกวันสองวัน.

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Thon Tham rongnawasawat