อ.ธรณ์ เผยข้อมูลจากงานวิจัย ไขข้อสงสัย ทำไมเดี๋ยวนี้ฝนตกเม็ดใหญ่ ฝนตกไม่นานน้ำท่วม ชี้ เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน แนะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก
วันที่ 13 ก.ย. 2565 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ให้ความรู้กรณี ทำไมฝนตกแป๊บเดียวก็ท่วมแล้ว ทำไมเม็ดฝนเดี๋ยวนี้มันใหญ่ โดยระบุว่า จะมาเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังสั้นๆ เกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องโลกร้อนล่าสุด
วัฏจักรของน้ำคือระเหยจากทะเล ไอน้ำอยู่ในอากาศ เมฆลอยเข้าแผ่นดิน กลายเป็นฝนตกลงมา วัฏจักรนี้ไม่เปลี่ยน แต่ที่เปลี่ยนคือรายละเอียดที่เกิดจากโลกร้อน เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำระเหยได้มากขึ้น ไอน้ำขึ้นไปในอากาศมากขึ้น อากาศร้อนจุไอน้ำได้มากกว่า หากอุณหภูมิในอากาศเพิ่มขึ้น 1 องศาฯ อากาศจะจุความชื้นได้เพิ่ม 7% อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 1.1-1.2 องศาฯ แต่นั่นคือค่าเฉลี่ย อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นมากกว่าในบางพื้นที่ เมฆยุคนี้ในบางพื้นที่จึงมีน้ำจุอยู่เยอะมาก ตกลงมาเป็นฝนที่หนักมากในช่วงเวลาสั้นๆ
เม็ดฝนใหญ่ๆ ที่เห็นในภาพ ผมเพิ่งถ่ายมาเมื่อบ่ายนี้เอง ไม่ใช่หมายความว่าแต่ก่อนไม่เคยมีฝนแบบนี้ แต่หมายความว่าฝนแบบนี้จะมีบ่อยขึ้น
ข้อมูลจากกรุงเทพฯ ระบุว่า ปีที่แล้วมีฝนตกหนักเกิน 100 มม. แค่ 4 วัน ปีนี้ยังไม่จบไตรมาส 3 เกินไปแล้ว 10 วัน คราวนี้มาดูสิว่าเราจะเจอฝนแบบนี้มากขึ้นอีกไหม?
ผมนำภาพโมเดลมาให้เพื่อนธรณ์ดู นั่นคือเปอร์เซ็นต์ฝนตกหนักที่มีเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาฯ แต่ละแห่งไม่เท่ากัน บางแห่งฝนตกน้อยลงด้วยซ้ำ กลายเป็นแห้งแล้งกว่าเดิม ลองดูจุดสีแดง ประเทศไทย จะเห็นว่าเราอยู่ในเขตที่ฝนจะตกหนักเพิ่ม 8-12% โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราจะเจอฝนโลกร้อน น้ำเทโครมจากฟ้าเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ 8-12% ต่อทุกองศาฯ และเชื่อว่าโลกร้อนกำลังอยู่ในอัตรเร่ง แม้อาจไม่สามารถวัดกันปีต่อปี แต่เมื่อดูความเสี่ยง ดูเทรนด์ มันจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นแน่ๆ ถี่ขึ้นและถี่ขึ้น
...
ความเดือดร้อนจากฝนตกหนักคงไม่ต้องอธิบาย เราเห็นกันอยู่แล้ว แทบทุกวัน หลายสถานที่ เมื่อเราทราบว่ามันไม่ลด มีแต่เพิ่ม เราก็ต้องพยายามหาทางเท่าที่ได้ เราต้องช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แต่มันไม่เห็นผลเร็วขนาดนั้น ว่าง่ายๆ คือหากโลกหยุดปล่อย GHG ทั้งหมดในวันนี้ ที่ปล่อยไปแล้วอยู่บนฟ้าก็ยังทำให้โลกร้อนขึ้นลากยาวไปอีก 25 ปี (GHG - Greenhouse Gas)
เราจึงต้องปรับตัวให้พออยู่ได้ แน่นอนว่าการปรับตัวต้องทั้งช่วยกันผลักดันให้ภาครัฐทำ ท้องถิ่นทำ แต่เราก็ต้องช่วยตัวเองเท่าที่ทำได้ ของบางอย่างไม่เคยทำก็อาจต้องทำ บางอย่างไม่เคยลงทุน ไม่เคยคิด ไม่เคยระวัง ก็คงจำเป็นต้องคิดถึงให้มากขึ้น มันเป็นยุคสมัยของการเอาตัวรอด ด้วยการหาข้อมูลให้เยอะ คิดให้รอบคอบ ที่จะช่วยเราได้ตั้งแต่การวางแผนกลับบ้านในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ซื้อบ้าน หาโรงเรียนลูก ฯลฯ หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับเพื่อนธรณ์บ้างนะครับ.