สังคมไทยยังสับสนน่าเป็นห่วง “การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด” ที่กำลังเป็นช่วงรอยต่อรอ “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...” อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ เพื่อตราออกมาเป็นกฎหมายควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในประเทศไทยต่อไป

ทว่าในระหว่างช่องว่างกฎหมายนี้ “ประชาชนไม่น้อย” ซื้อต้นกัญชามาปลูกในครัวเรือน “เพื่อบริโภคอย่างกว้างขวาง” ทำให้มีข่าวเยาวชนแอบสูบเสพกัญชาเพราะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า “ปลดล็อกกัญชาแล้วไม่เป็นยาเสพติด และไม่ผิดกฎหมาย” นำมาซึ่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ถูกหามส่งโรงพยาบาลรายวัน

กลายเป็นความกังวลให้หลายภาคส่วนต่อผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ “กระทรวงสาธารณสุข” จึงออกประกาศควบคุมการใช้กัญชาไม่เหมาะสม “เน้นพื้นที่สาธารณะ” หากก่อเกิดกลิ่นควันสร้างความรำคาญเข้าข่ายความผิด! พร้อมกำหนดให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

ความเสี่ยงการใช้กัญชาไม่เหมาะสมนี้ ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย บอกว่า สาเหตุผู้ใช้กัญชาจนเป็นการเสพติดมาจากสาร Tetrahydro cannabinol หรือ THC เรียกว่าสารเมา มักอยู่ในดอกกัญชาไทยเพศเมีย 5-15% ถ้ากัญชานำเข้าต่างประเทศ 30%

...

เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย “ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท” ช่วงแรกจะร่าเริง อารมณ์ดีมีความสุข แต่พอใช้มากขึ้นกลายเป็น “กดประสาท” มีอาการเมาเซื่องซึมง่วงนอน สุดท้ายเข้าสู่ภาวะหลอนประสาทหูแว่วตามมา แล้วยิ่งเป็น “การสูบเพื่อสันทนาการด้วยวิธีโดยตรงหรือผ่านไอน้ำ” เป็นการสูดควันเข้าสมองทำให้พัฒนาการช้าผิดปกติ

เยาวชนยิ่งมีความเสี่ยงเสพติดกระทบระยะยาว และควันกัญชาก็ไม่ต่างจากบุหรี่ที่ระคายเคืองปอด

ย้ำว่าแม้ “กัญชาปลดล็อกไม่ใช่ยาเสพติด” ในแง่คำนิยามการเสพติดใช้ต่อเนื่องมักเป็น “กัญชาดิเพนเดนต์ (dependent)” ที่ต้องการเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีระดับการใช้ที่สูงกลายเป็นพิษกระทบต่อร่างกาย แล้วกระบวนการเลิกเสพติดในต่างประเทศมีการศึกษา 2 เรื่อง คือ ความพยายามและความตั้งใจเลิกของบุคคลนั้น

แต่ด้วยผู้เสพมานานร่างกายปรับเปลี่ยนเป็นตอบสนอง (response) ทำให้จิตใจอ่อนแอไม่อาจเลิกได้

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว

สัญญาณบ่งชี้ “กรณีติดกัญชา” มิอาจระบุระดับให้เห็นได้แน่ชัด เพราะผู้เสพมีผลมากน้อยต่างกัน แล้วร่างกายแต่ละคนมีปฏิกิริยาต่อสาร THC ต่างกัน บางคนรับมากไม่เป็นไร บางคนรับน้อยมีอาการก็มี แต่ข้อสังเกตง่ายๆ คือ “อาการขาดยา” ถ้าไม่ได้รับยาจะหงุดหงิด น้ำตาไหล และบางคนสั่น เมื่อรับแล้วอาการขาดยาจะหายดีขึ้น

กรณีมีผู้โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลฯ “ใช้กัญชาไม่มีผลข้างเคียง หรือไม่มีอาการเสพติด” ความจริงสิ่งนี้เกิดขึ้น “เฉพาะคนกลุ่มเล็กๆ” ตามหลักวิชาการที่เคยมีการเก็บข้อมูลผ่านงานวิจัยทั่วโลกระบุตรงกันว่า “ผู้ใช้กัญชามีโอกาสเสพติดได้เสมอ” ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้รักษาโรคควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ดีที่สุด

เพราะบุคลากรทางแพทย์เป็นผู้เชี่ยวชาญมีวิธีสังเกตระดับการพึ่งยา ถ้าหากต้องพึ่งพิงมากไปจนมีความเสี่ยงแล้วมักจะถอนยาปรับลดขนาดลง พร้อมประเมินอาการเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เกิดการลงแดงขาดยารุนแรง

แต่ตามหลักทางการแพทย์ “การใช้ยากัญชาแก่ผู้ป่วย” มักเป็นทางเลือกสุดท้ายด้วยการพิจารณาประโยชน์มากกว่าโทษเป็นสำคัญ ส่วน “ประชาชนหาซื้อกัญชาใช้เอง” ควรใช้เท่าที่จำเป็นรักษาตามอาการของโรค หากใช้นันทนา การความบันเทิง “ไม่แนะนำทุกกรณี” เพราะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

เรื่องนี้ “กฎหมายควบคุมการใช้กัญชาเป็นสิ่งจำเป็น” เพื่อกำหนดการใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างเหมาะสม หรือพัฒนากัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ต่อเกษตรกรต่อไป

อีกมาตรการคือ “ส่วนร่วมของสังคม” เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลกัน โดยเฉพาะผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้าน “ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลาน” ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมลูกเปลี่ยนไปหรือไม่ แล้วบ้านใดมีลูกในวัยรุ่นไม่แนะนำให้ปลูกกัญชาไว้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ควรหาซื้อผลิตภัณฑ์ หรือขอรับยาในโรงพยาบาลที่มีบริการให้อยู่แล้ว

ดังนั้น “ไม่จำเป็นต้องปลูกพืชกัญชาที่บ้าน” เพราะเสี่ยงต่อลูกหลานนำไปใช้ไม่เหมาะสมเป็นอันตราย “ไม่คุ้มค่า” ที่แน่ๆ “เยาวชนเสพกัญชา” กระทบต่อพัฒนาการทางสมองถูกทำลายหลายส่วน ด้วยในวัยเด็ก-อายุ 25 ปีนี้ “เป็นช่วงสมองพัฒนาการ” ทั้งการวิเคราะห์ ความจำ การสร้างสมดุล การทรงตัวของร่างกาย

ถ้าใช้กัญชาไม่เหมาะสม “ย่อมสูญเสียกระบวนการทางความคิด วิเคราะห์” มีผลต่อการทำงานอย่างมากที่กลายเป็นว่า “ประเทศไทย” มีแรงงานไร้คุณภาพทางความคิดวิเคราะห์ กระทบต่อการพัฒนาประเทศก็ได้

เมื่อเปรียบเทียบกับ “ประเทศเปิดเสรีกัญชา” ส่วนใหญ่ก็มีมาตรการทางกฎหมายในการกำหนดกฎเกณฑ์การใช้กัญชาชัดเจน เช่น กำหนดพื้นที่สูบ หรือพื้นที่ห้ามสูบ ถ้าพบเห็นผู้ใช้ไม่เหมาะสม ไม่ถูกที่ไม่ถูกทาง สามารถแจ้งภาครัฐดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งยังทำควบคู่การให้ความรู้ และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมด้วย

ส่วน “ประเทศไทยการใช้กัญชาเป็นเรื่องใหม่” เบื้องต้นก็ประกาศใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุขฯ “ห้ามการสูบเสพในพื้นที่สาธารณะ” ผู้ใดฝ่าฝืนอาจจะมีโทษทั้งจำและปรับ ยกเว้นการสูบในบ้านที่ยังไม่มีข้อกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ ฉะนั้น ประชาชนอาจต้องพิจารณาความเสี่ยงกับประโยชน์ในการปลูกกัญชาใช้เองนี้ด้วย

ตอกย้ำความห่วงใยว่า “ปกติผู้เสพกัญชา” มักไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมากเท่ายาเสพติดในกลุ่มเฮโรอีน ยาบ้า ยาอี เว้นแต่เสพร่วมกับยาเสพติดประเภทอื่น โดยเฉพาะยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้กระตุ้นเสริมฤทธิ์แรงมากขึ้น 2-3 เท่า สิ่งสำคัญยังเป็นประตูก้าวสู่การเสพยาเสพติดอื่นที่ร้ายแรงกว่าได้ด้วย

เคยมีผลสำรวจคนไทยส่วนหนึ่งเสพยามากกว่า 1 ชนิด ถ้าหายานี้ไม่ได้ก็ใช้ตัวอื่น บางคนใช้ร่วมกันก็มี

“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าข้อมูลจากภาครัฐส่งไม่ถึงชาวบ้าน ทำให้หลงเชื่อข่าวลวงบนโซเชียลฯ แชร์ต่อโดยไม่ตรวจสอบกลายเป็นเข้าใจผิดกันเยอะ ดังนั้น ผู้ใช้ประโยชน์จากกัญชาควรตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดก่อน เพราะปลดล็อกกัญชาครั้งนี้ภาครัฐมิได้หวงห้าม แต่อยากให้ใช้อย่างเข้าใจเกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.ภญ.ผกากรองว่า

ประเด็น “นำกัญชาประกอบปรุงอาหาร” เรื่องนี้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม “ช่วยประโยชน์ปรับทิศทางลมในร่างกาย” คนสมัยก่อนใช้ใบกัญชาสดไม่เกิน 5-8 ใบ นำมาใส่ในอาหารประเภทเครื่องเทศ

ปัจจุบันนี้ “หลายคนหันมานำใบกัญชาสดใส่ปรุงอาหารเพื่อให้เจริญอาหารดีขึ้น” แต่ก็ไม่จำเป็นต้องกินทุกวัน “ขึ้นอยู่กับว่าหามาได้ก็กินหาไม่ได้ก็ไม่ต้องกิน” เพราะเรื่องนี้ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชัดเจน

และถามว่า...“มีโอกาสเสพติดได้หรือไม่” ตามหลักกลไกด้านเภสัชวิทยาแล้ว การนำใบกัญชาใส่ปรุงอาหารรับประทานเป็นเสมือนนำตัวกระตุ้นเข้าไปสู่ตัวรับในร่างกายปรับตัวให้เกิดความต้องการสารเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ “เพื่อกระตุ้นการกินอาหารให้อร่อย” สุดท้ายอาจกลายเป็นเปิดช่องโอกาสให้เสพติดเกิดขึ้นก็ได้

หากนำมาเทียบกัน “การเสพ หยดใต้ลิ้น กินดอกกัญชา” มีโอกาสเสพติดได้น้อยกว่าอยู่แล้ว

ล่าสุดกรมอนามัยออกข้อกำหนดให้ “ร้านอาหารต้องมีคำเตือนให้ผู้บริโภคทราบ” แนะนำใช้ใบกัญชามาปรุงอาหาร 1-2 ใบ/เมนู แล้วเด็กอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชาและสตรีมีครรภ์ให้นมบุตร ผู้มีโรคประจำตัวไม่ควรรับประทาน ดังนั้น ถ้าปฏิบัติตามนี้จะมีความปลอดภัยดีที่สุด

ยกเว้น “ใช้ดอกกัญชามีสาร THC ออกฤทธิ์มึนเมาสูง” สามารถละลายสารในแอลกอฮอล์และน้ำมันได้ดี แล้วก็เห็นบางร้านมักนำดอกมาทอดเป็นน้ำมันปรุงอาหารหลายประเภท กลายเป็นสะสมสาร THC ปริมาณมากขึ้น ก็อาจก่อปัญหาผลข้างเคียงได้ ฝากไว้สำหรับ “ประชาชน” ต้องการนำกัญชาใส่อาหารควรใช้ใบเท่านั้น

สาเหตุปริมาณสาร THC น้อย แต่ว่าจำนวนน้อยนี้มีโอกาสเข้าไปกระตุ้นตัวรับในร่างกายได้เช่นกัน ฉะนั้น ดีที่สุด “อย่าบริโภคกัญชาทุกกรณี” เพราะบนโลกใบนี้มีอาหารอร่อยๆให้ได้กินกันอีกเยอะแยะมากมาย

เน้นย้ำว่า...ไม่แนะนำ...ไม่ส่งเสริมการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการความบันเทิงทุกกรณี แล้วยิ่งเป็น “เด็กเยาวชน” ควรคำนึงถึงโทษพิษภัย และอันตรายให้มาก เพราะผลความคึกคะนองลองเสพเพื่อความสนุกเพียงครั้งเดียว...อาจต้องเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้.