สรุปดราม่า รถไฟฟ้าสายสีเหลือง "สถานีกลันตัน" ชื่อเหมือนรัฐหนึ่งในมาเลเซีย ด้านเพจดัง ชี้ไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่เกี่ยวข้องกันในแง่ประวัติศาสตร์
จากกรณีเฟซบุ๊ก Render Thailand ได้โพสต์ภาพความคืบหน้าของ "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง สถานีกลันตัน" โดยระบุว่า "สถานีกลันตัน สายสีเหลือง ติดป้ายชื่อสถานีแล้ว ตามข่าวล่าสุดจะเปิดบริการบางส่วนในเดือนมกราคม ปี 2566" แต่กลับมีดราม่า โดนชาวเน็ตบางส่วนกล่าวว่า ชื่อสถานีหมือนกับชื่อรัฐในมาเลเซีย
ต่อมาเฟซบุ๊ก โบราณนานมา ได้โพสต์ให้ความรู้เรื่อง "สถานีกลันตัน" ชื่อนี้มีที่มา โดยระบุว่า ตอนนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. หลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่มีชื่อสถานที่น่าสนใจสถานีหนึ่ง คือ สถานีกลันตัน ที่มีชื่อสถานีดันไปเหมือนกับชื่อรัฐหนึ่งในมาเลเซีย นั่นคือรัฐกลันตัน หลายคนสงสัยว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า ซึ่งที่จริงไม่ได้เป็นความบังเอิญ แต่ชื่อ "สถานีกลันตัน" กับ "รัฐกลันตัน" มีความเกี่ยวข้องในแง่ประวัติศาสตร์จริงๆ
สำหรับสยามในอดีตและปัจจุบันมีหลายชาติพันธุ์ และในกรุงเทพฯ เองก็มีหลายชุมชนของหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น ชุมชนชาวญวน, ชาวลาว, ชาวเขมร, ชาวโปรตุเกส, ชาวมลายู ฯลฯ ที่จะพูดถึง คือ ชุมชนชาวมลายู ซึ่งมาจากการเทครัวในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 - 3 แล้วมาตั้งถิ่นฐานในกรุงเทพฯ เช่น ชุมชนบ้านแขก, ชุมชนมุสลิมมหานาค, ชุมชนมุสลิมพระประแดง, มุสลิมย่านรามคำแหง, มุสลิมคลองแสนแสบ ฯลฯ
...
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 - 3 เกิดสงครามกับหัวเมืองมลายูขึ้นหลายครั้ง และเมื่อมีการทำสงครามสิ่งหนึ่งที่แถบอุษาคเนย์มักจะทำ คือ การเทครัว (กวาดต้อนเชลยศึก) เพราะสมัยนั้นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด คือ คน ช่วงเวลานั้นจึงมีการกวาดต้อนเชลยศึกชาวมลายูมายังกรุงเทพฯ และไม่ได้มาพร้อมกันแต่มาหลายรอบ
- สมัยรัชกาลที่ 1 ปี 2329 กวาดต้อนเชลยศึกชาวปัตตานี (ปัจจุบันอยู่แถวแยกบ้านแขก และพระประแดง)
- สมัยรัชกาลที่ 2 ปี 2364 กวาดต้อนเชลยศึกชาวปัตตานีและชาวไทรบุรี (เคดะห์)
- สมัยรัชกาลที่ 3 ปี 2381 กวาดต้อนเชลยศึกชาวกลันตัน ตรังกานู และหัวเมืองปักษ์ใต้อื่นๆ
ขณะที่ "ชาวกลันตัน" ที่ถูกกวาดต้นมานี้ ไม่ได้มาจากเมืองกลันตันแต่อย่างใด แต่มาจากเมืองปัตตานี เพราะสมัยนั้นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองเมืองปัตตานี คือ "ราชวงศ์กลันตัน" จึงมีชาวกลันตันที่อาศัยอยู่ในเมืองปัตตานีด้วย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีการขุดคลองแสนแสบ เพื่อเป็นเส้นทางกองทัพไปรบกับญวน ยังได้มีการขุดคลองเพื่อเชื่อมคลองแสนแสบกับคลองพระโขนง โดยแรงงานชาวมลายูและคนกลันตันทางใต้ของสยาม จึงได้ตั้งชื่อคลองว่า "คลองกลันตัน" ภายหลังเรียกให้สั้นลงเหลือเพียง "คลองตัน".
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Render Thailand, โบราณนานมา