นโยบายปลดล็อกกัญชาเสรี ทางการแพทย์ “สร้างปรากฏการณ์ให้ประชาชนตื่นตัว” ตอบรับพากันแห่ซื้อต้นกล้ามาปลูกเต็มบ้านเกลื่อนเมืองกันแล้วโดยเฉพาะในแง่ “ใช้เพื่อเป็นสมุนไพรบำรุงสุขภาพรักษาโรค” ที่ออกฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร และลดอาการเจ็บปวดที่มีประสิทธิภาพสูง

แล้วการปลดล็อกพืชกัญชานี้ยังเป็นโอกาสต่อยอดป้อนให้อุตสาหกรรมยา อาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอางสร้างรายได้ให้ “เกษตรกรผู้ปลูก” ที่ไม่ต้องขออนุญาตเพียงจดแจ้งผ่าน “แอปฯปลูกกัญ” แต่ในช่วงระหว่างสุญญากาศที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุม “ประชาชน” ต่างขาดองค์ความรู้ใช้กันแบบถูกๆผิดๆ

ทำให้ช่วงรอยต่อนี้ “หลายฝ่ายเกิดความกังวลการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยไม่เหมาะสม” อาจกลายเป็นอันตรายกับคนที่มีโรคประจำตัว เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ขึ้นได้ง่าย ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว ประธานฝ่ายประชาสัมพันธ์วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย บอกว่า

นับตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน “มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาพืชกัญชาใหม่ๆ” ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงกระบวนการนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงสุขภาพ ระบบสาธารณสุข และด้านการแพทย์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

...

ด้วยการนำส่วน “ข้อดีของพืชกัญชา” อันสามารถตอบโจทย์แก่โรคที่ไม่มียารักษา และช่วยส่งเสริมเชิงสุขภาพอีกมากมาย ทำให้กัญชาเป็นที่ต้องการเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคในอนาคต แม้จะเป็นการเร็วเกินไปที่มีผลสรุปว่า “พืชกัญชาสามารถช่วยบำรุงรักษาสุขภาพได้จริงหรือไม่” แต่ก็มีทิศทางแนวโน้มที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้

ประการนี้ทำให้ “กัญชาเป็นพืชที่น่าสนใจ” ถ้ามีการศึกษาเป็นระบบโอกาสพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ไม่ยาก ที่เข้ามาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาผู้ป่วยระยะท้ายระดับประคับประคอง เช่น โรคมะเร็ง ไตวาย และโรคอื่นๆ เพราะที่ผ่านมามักรักษาตามอาการ เช่น ปวดก็ให้มอร์ฟีน ยานอนหลับ กินข้าวไม่ได้ก็ให้ยาช่วยเจริญอาหาร

แต่พอ “ผู้ป่วยได้ยากัญชา” อันมีสรรพคุณหลากหลาย “คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น” ไม่เป็นภาระต่อญาติมากเกินไป แม้แต่ “โรคพาร์กินสัน” ที่ส่งผลให้เกิดอาการสั่น เสียการทรงตัว โดยปัจจุบันเริ่มมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ใช้ยาแผนปัจจุบันที่คุมอาการได้น้อย แต่เมื่อผู้ป่วยบางคนหันมาใช้สาร CBD อาการสั่นก็หายดีขึ้นตามลำดับ

ด้วยปัจจุบัน“กัญชาเสรีทางการแพทย์เป็นเรื่องใหม่” ทำให้ประชาชนบางคนเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็นจนเสี่ยงต่อการนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เพราะด้วย“กัญชาและกัญชงเป็นพืชชนิดเดียวกัน” ตามพฤกษศาสตร์เรียกพืชตระกูลนี้ว่า Cannabis sativa แต่มักปรับสร้างสาร THC และ CBD ตามภูมิอากาศในแต่ละประเทศ

โดยหลักธรรมชาติ “กัญชา” ถ้าปลูกในภูมิภาคอากาศร้อนมักมี “สาร THC (สารเมา) มากกว่า CBD (สารต้านเมา)” แต่หากปลูกในต่างประเทศมีภูมิอากาศเย็น แสงน้อย “การผลิตสาร CBD จะมากกว่า THC” ดังนั้น “กัญชา-กัญชง” เป็นพืชชนิดเดียวกันเพียงแต่บางคนเข้าใจกันว่าเป็นพืชมีลักษณะต่างชนิดกัน

เช่นนี้เวลา “ประชาชน” จะนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ต้องปักหมุดเลยว่า “จะใช้เพื่อประโยชน์ด้านใด” ถ้าใช้กรณีโรคทางสมองควรเป็น “สารสกัด CBD” แต่หากเป็นโรคระยะสุดท้ายระดับประคับประคองกินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ต้องเน้น “สารสกัด THC” ดังนั้น การใช้กัญชารักษาโรคเป็นสิ่งใหม่ต้องติดตามประเมินกันใกล้ชิดต่อไปอีก

ตอกย้ำด้วย “ผลการศึกษากัญชาพบสารสำคัญมากกว่า 500 ชนิด” ทำให้เป็นพืชมีความซับซ้อนในการนำไปใช้เพื่อการรักษาโรค เช่นกรณีใช้ยากัญชารักษาโรคมะเร็ง มักปรากฏพบบางสัดส่วนของสาร THC และ CBD สามารถช่วยระงับให้เซลล์มะเร็งเล็กลงได้ แต่ในบางสัดส่วนก็ทำให้เซลล์มะเร็งขยายใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน

ฉะนั้น ในวันนี้ “การใช้ยากัญชาลดเซลล์มะเร็ง” ยังมีผลการศึกษาไม่มากพอสรุปชัดเจนได้ ยกเว้นกรณีผู้ป่วยมะเร็งลุกลามทั่วร่างกายระยะสุดท้าย เมื่อใช้ยากัญชาเข้าไปจับตัวสารกัญชาผลิตขึ้นตามธรรมชาติในร่างกาย ที่เรียกว่า “เอนโดแคนนาบินอยด์ (endocannabinoid)” ที่แทรกอยู่ในระบบส่วนต่างๆของร่างกาย

พูดง่ายๆ ก็คือกัญชามีในตัวทุกคนอยู่แล้ว “ไม่ว่าจะเสพกัญชาหรือไม่เสพ ก็ตาม” อันจะคอยทำหน้าที่ปรับสมดุลการเรียนรู้ เคลื่อนไหว ความจำ ตัดสินใจ และระบบเผาผลาญ ในส่วนพืชกัญชามีสารสำคัญ 3 กลุ่ม คือ สารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) สารเทอร์ปีน (Terpenes) สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid)

ฉะนั้น ถ้ามีอาการป่วยใช้ยากัญชาจะช่วยบรรเทารักษาบางโรคได้ แต่หากผู้นั้นไม่มีอาการป่วยสารกัญชาในร่างกายมักอยู่ระดับปกติ แล้วเมื่อใช้ยาเข้าไปเพิ่มปริมาณมากเกินไปก็อาจเกิดผลข้างเคียงตามมาก็ได้

ย้ำสรุปง่ายๆ “สารสกัด THC” ใช้ประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร มีอาการปวดจากความผิดปกติระบบประสาท ในส่วน “สารสกัด CBD” ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับโรคทางสมอง เช่น โรคความจำ ต้านลมชัก โรคผิวหนังอักเสบ สะเก็ดเงิน โรคพาร์กินสัน

ยิ่งปัจจุบันมีผลวิจัยในต่างประเทศ “ด้วยการนำสาร THC และ CBD ผสมกัน” ทำให้เกิดสัดส่วนสารจำเพาะขึ้นมาใหม่ สามารถใช้รักษาโรคได้หลากหลายยิ่งขึ้น ฉะนั้น ในอนาคตหากต้องใช้กัญชารักษาโรคอาจต้องพิจารณาสายพันธุ์ที่มีข้อมูลสารสำคัญให้ชัดเจน เพื่อตอบสนองกระบวนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เพราะมนุษย์มีสารกัญชาเกิดตามธรรมชาติในร่างกายปริมาณต่างกัน แล้วเมื่อใช้ยากัญชารักษาโรคมักเกิดปฏิกิริยาตอบสนองได้ผลไม่เท่ากันด้วย สิ่งนี้เป็นข้อจำกัดความยากการใช้กัญชาที่มีความหลากหลายของสารสำคัญในแต่ละสายพันธุ์กัญชา เพราะบางคนมีอาการป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่อาจใช้สายพันธุ์รักษาต่างกันด้วยซ้ำ

เหตุนี้การที่ “ประชาชน” นำกัญชาไปใช้ด้วยตัวเองควรเป็นกรณีโรคง่ายๆ บรรเทาอาการ หากผู้ป่วยใช้สายพันธุ์ใดได้ผลไม่ควรเปลี่ยนสายพันธุ์ใหม่ เพราะอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้

เรื่องนี้มีข้อกังวลต่อ “ผู้ใช้กัญชา” หากไม่มีข้อบ่งชี้ใช้แล้วมีประโยชน์มากกว่าเกิดโทษ “ไม่ควรใช้ในเด็กต่ำกว่า 20 ปี” เพราะส่งผลต่อสมองพัฒนาการช้า เช่นเดียวกับ “กลุ่มสตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร” สารเคมีในกัญชามักผ่านรก หรือการให้น้ำนมไปยังทารกส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองเด็กได้เหมือนกัน

อีกทั้ง “กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช” กัญชามักกระทบต่อสมองเสี่ยงอาการทางจิตเวชย่ำแย่ “กลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ” ที่มีอาการกำเริบบ่อย ปวดเค้นหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ถ้าใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงหัวใจขาดเลือดได้ “กลุ่มใช้ยาวาร์ฟาริน (Warfarin)” เป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด “สาร THC” อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษขึ้น

ประเด็น “ความน่ากลัวของการใช้กัญชา” แม้ถูกปลดล็อกออกจากรายชื่อยาเสพติดตามกฎหมายแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยใช้ยากัญชาต่อเนื่อง ก็มักมีพฤติกรรมอาการต้องการเพิ่มขนาดการใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียกว่า “การพึ่งพิงกัญชา” จนกระทั่งถึงระดับการใช้ยาสูงเกินไป ทำให้เกิดความเป็นพิษกระทบต่อร่างกายได้ง่าย

สิ่งนี้เป็นสาเหตุ “การติดกัญชา” เพราะด้วยคุณสมบัติปรับอารมณ์ต่อผู้ใช้ให้เกิดความสุข อย่างเช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย “มีอาการเจ็บปวดรุนแรง” เมื่อใช้กัญชา ฤทธิ์ยาสามารถทำให้ทนความเจ็บปวดได้ และแถมกินข้าว นอนหลับดีอีก “เสมือนใช้กัญชาแล้วมีความสุข” ทำให้ผู้ป่วย อยากเพิ่มขนาดมากขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งกว่านั้น “การสูบกัญชา” ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามมักต้อง “สูดดมควันกัญชาเข้าปอด” ก่อนถูกดูดซึมสู่กระแสเลือดวิ่งเข้าไปจับตัวสารรับกัญชาในสมอง “ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท” ผลวิจัยทั่วโลกออกมาในทำนองเดียวกันคือ “ผู้ใช้กัญชาโดยเฉพาะเยาวชน” ทำให้พัฒนาการทางสมองล่าช้าผิดปกติ

อย่างที่บอกไปแล้วว่า “กัญชา” ในระยะแรกๆ มักมีลักษณะกระตุ้นให้ร่าเริงแจ่มใส อารมณ์ดีแฮปปี้มีความสุข แต่หลังจากนั้น “จะออกฤทธิ์กดประสาท” สุดท้ายนำไปสู่อาการหลงผิด หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอน สิ่งนี้มีหลักฐานยืนยันชัดเจน ดังนั้น “ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชน” ถ้าไม่อยู่ภายใต้การดูแลแพทย์ ไม่ควรใช้เด็ดขาด

นี่คือ “สรรพคุณของพืชกัญชา” ที่กำลังเป็นเทรนด์ทางเลือกใหม่ “ด้านสุขภาพ” แต่ถ้าใช้ผิดวิธีฤทธิ์ของพืชชนิดนี้มักย้อนกลับมา “ทำร้ายตัวเอง” กลายเป็นอันตรายร้ายแรงเกินกว่าที่คิดด้วยซ้ำ.