เพจกฎหมายแรงงาน ให้ความรู้ปมดราม่า ลาพาพ่อแม่ไปหาหมอ แต่หัวหน้าตอบ "อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอ" เป็นกิจอันจำเป็นตามกฎหมาย 

วันที่ 16 มิถุนายน 2565 จากกรณีดราม่าลางาน แต่เจอหัวหน้าตอบกลับ หากจำเป็นไม่ว่า แต่ "อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอ" พร้อมให้คิดเองตามความเหมาะสม (อ่านข่าว ดราม่า ลางาน แต่เจอหัวหน้าตอบกลับ "อย่าหัดให้พ่อแม่เป็นคนอ่อนแอ")

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แฟนเพจ กฎหมายแรงงาน ของ รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้ว่า ต้องเข้าใจว่ากฎหมายให้สิทธิมาตรา 34 ที่ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ปีละไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ เมื่อลูกจ้างขอใช้สิทธิ นายจ้างหรือหัวหน้างานก็ควรพิจารณาไปตามสิทธิของเขาโดยพิจารณาว่าเป็น "กิจธุระอันจำเป็น" หรือไม่

กรณีนี้ลูกจ้างอ้างการพาพ่อแม่ไปหาหมอก็น่าจะถือว่าจำเป็นและต้องดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งการลากิจสามารถลาเพื่อไปทำกิจธุระอันจำเป็นของครอบครัวก็ได้ เช่น การไปรวมงานสมรส หรืองานบวชของบุตร หรืองานศพของบุคคลในครอบครัว หรือจะลาเพื่อไปทำกิจการของตัวเอง เช่น ทำบัตร ทำใบขับขี่ จดทะเบียนสมรส เป็นต้น

การทำหน้าที่พาพ่อแม่ หรือพาบุตรไปพบแพทย์ พาไปฉีดวัคซีน ย่อมถือเป็นกิจอันจำเป็น เพราะการดูแลผู้เป็นบุพการี หรือบุตร กฎหมายได้กำหนดให้เป็นพันธะทางศีลธรรม (Moral Obligation) ที่ต้องทำ

ส่วนที่ว่า "อย่าหัดให้พ่อแม่อ่อนแอ" น่าจะมีการศึกษาเรื่องนี้ไม่ถ่องแท้ เพราะคนแก่ไม่ต้องหัด เขาก็อ่อนแอ แต่จะอ่อนแอมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการสะสมและล้างผลาญสุขภาพ ซึ่ง TDRI ได้ศึกษาเอาไว้ดูท้ายโพสต์

...

โดยสรุปเรื่องนี้ การลาพาพ่อแม่ไปพบแพทย์ถือเป็นกิจอันจำเป็นตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นไปตามนโยบายภาครัฐที่เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ข้อสังเกต

สิ่งที่นายจ้าง หรือหัวหน้างาน พึงระลึกอยู่เสมอว่ามาตรา 34 ให้ลาได้ปีละ 3 วันทำงาน หากลูกจ้างใช้สิทธิลาหมดแล้วสิทธิของลูกจ้างก็หมดไป ดังนั้นนโยบายการลากิจจึงไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดหรือตึงมาก ส่วนลูกจ้างเมื่อลากิจหมด แต่หากมีกิจธุระอันจำเป็นก็อาจใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งกฎหมายให้สิทธิได้ 6 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้าง.

ข้อมูลจาก แฟนเพจ กฎหมายแรงงาน