• หนังโป๊ โสเภณี สู่ Sex creator อาชีพสร้างรายได้จากเรือนร่าง ขอบเขตเสรีภาพ แสดงออกได้แค่ไหน
  • ข้อสังเกต วิธีปราบปราม ดำเนินคดี Sex Creator อาจไม่ใช่ทางออก กลับกันอาจผลักปัญหาเข้ามุมมืด
  • ชะตากรรม Sex creator หลายประเทศ อาจถือว่าเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทยนอกจากยังผิดกฎหมาย บางคนมอง ผิดศีลธรรม และขัดกับความเป็นเมืองพุทธ

"หนังโป๊" หรือแม้กระทั่ง "โสเภณี อยู่คู่กับประเทศไทยมาเนิ่นนาน แต่เรื่องเหล่านี้ก็ยังถูกเก็บไว้ใต้พรม หากถูกหยิบยกขึ้นมาพูดก็จะกลายเป็นประเด็นร้อนแรง เนื่องจากมีเรื่องเกี่ยวกับศีลธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือ สำหรับประเทศไทยแล้ว ยังถือว่า ผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับ Sex Creator หรือผู้สร้างคอนเทนต์แนว 18+ ที่เป็นกระแสพูดถึงอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง OnlyFans ที่มีการลงคลิปวาบหวิวเพื่อเก็บเงินคนที่เข้ามาดู ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพ Sex Creator นั้นสร้างรายได้มหาศาลให้กับเจ้าของคอนเทนต์เป็นอย่างมาก

...

ทว่าในแง่มุมของสังคมก็ยังมีข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมไม่ต่างกับ หนังโป๊ และ โสเภณี โดยมีทั้งคนที่ไม่ยอมรับเพราะผิดศีลธรรมอันดีงาม ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า อาชีพนี้ถือเป็นอาชีพสุจริตควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากเจ้าของคอนเทนต์เป็นเจ้าของเรือนร่างมีการนำเสนอด้วยความเต็มใจ ไม่มีการบังคับขืนใจ หากใครต้องการเข้ามาดูก็ต้องเสียเงิน ไม่ใช่ดูดคลิปออกไปปล่อยให้ดูฟรี ถือเป็นการละเมิด

Sex creator กับกฎหมายไทย

ในส่วนของแง่มุมกฎหมาย อาจารย์ ดร.พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้ก็ต้องดูที่บริบทว่าพิจารณาภายใต้กฎหมายอะไร ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี Sex Creator บนแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจไม่ใช่ทุกคนที่เข้าข่ายเป็นโสเภณี หรือมีพฤติกรรมขายบริการทางเพศ หรือใช้แพลตฟอร์มเป็นที่หาลูกค้าแล้วไปให้บริการในสถานที่ต่างๆ

ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ให้นิยามคำว่า "การค้าประเวณี" ว่าหมายถึงการยอมรับการกระทำชำเรา หรือการยอมรับการกระทำอื่นใด หรือการกระทำอื่นใดเพื่อสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใด ทั้งนี้ไม่ว่าผู้ยอมรับการกระทำ และผู้กระทำจะเป็นบุคคลเพศเดียวกันหรือคนละเพศ

และใน มาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว วางหลักเกี่ยวการโฆษณาขายบริการว่าผู้ใดโฆษณาหรือรับโฆษณา ชักชวน หรือแนะนำด้วยเอกสารสิ่งพิมพ์ หรือกระทำให้แพร่หลายด้วยวิธีใดไปยังสาธารณะที่เห็นได้ว่าเป็นการเรียกร้องหรือการติดต่อเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณี Sex creator บน Onlyfans ผิดกฎหมายไหม ต้องพิจารณาพฤติกรรมเป็นกรณีๆ ไปว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานค้าประเวณีหรือไม่ มีการเชิญชวน หรือนัดกันไปค้าประเวณีหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาว่าลักษณะการกระทำเพื่อสำเร็จความใคร่ เป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ ถ้ามีคู่นอนคนเดียว ถ่ายคลิปกับแฟน ก็ไม่น่าจะเรียกได้ว่าสำส่อนตามกฎหมายนี้

ทั้งนี้ Onlyfans เป็นหนึ่งในหลายๆ แพลตฟอร์มที่ให้บริการในลักษณะที่มีการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาสำหรับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และต้องเสียค่าบริการเพื่อเข้าดูเนื้อหาที่ถูกปิดเอาไว้

ขอบเขตเสรีภาพของ Sex Creator

อาจารย์ ดร.พัชร์ นิยมศิลป กล่าวอีกว่า กรณีของ Sex Creator คนส่วนใหญ่น่าจะเห็นตรงกันว่ามันเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง แต่ปัญหาคือ การแสดงออกในเรื่องเพศจะได้คุ้มครองภายใต้เสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ ก็อยู่ที่ว่า เราตีความคำว่า "ศีลธรรมของประชาชน" อย่างไร ใครเป็นผู้ตัดสิน และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสิน เพราะแต่ละประเทศ แต่ละสังคมมีมาตรวัดและระดับการยอมรับที่ไม่เท่ากัน เช่น เกณฑ์ในการนำเสนอสื่อโป๊เปลือยของอเมริกาก็ไม่เท่าของอังกฤษ และของอังกฤษเองก็ไม่เท่ากับเกณฑ์ของญี่ปุ่น

ภายใต้กฎหมายไทยนั้น พบว่ามีความผิดเรื่องสื่อลามกอยู่ 2 ที่ คือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 กับ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) แต่กฎหมายทั้งสองฉบับ ไม่ได้ให้คำนิยามหรือคำอธิบายคำว่า "สื่อลามก" เป็นการเฉพาะ ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาแนวคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งสามารถสรุปลักษณะแนวฎีกาได้ 2 ประการ คือ

1. มีลักษณะเปิดเผยทางเพศ เปลือย มีการ โชว์อวัยวะเพศ หัวนม  

2. นำไปสู่ความใคร่ทางกามารมณ์ น่าเกลียดอุจาดบัดสี ยั่วยวนให้เกิดอารณ์ทางเพศ เช่น นั่งแหวกขา ลูบคลำอวัยวะเพศแม้ว่าจะไม่เห็นอวัยวะเพศ เช่น ฎีกา 6301/2533 ภาพหญิงเปลือยท่อนบน สวมกางเกง หรือกระโปรง มือข้างหนึ่งล้วงไปจับที่อวัยวะเพศ ไม่มีภาพใดเห็นอวัยวะเพศชัดเจน แต่มีลักษณะส่อไปในด้านยั่วยุกามารมณ์ ถือเป็นภาพลามก 

ทั้งนี้ หากภาพเปลือยมีคุณค่าทางศิลปะ ไม่ได้ถูกนำเสนอในลักษณะที่ยั่วยุกามารมณ์ จะถือว่าไม่ลามก เช่น ฎีกา 978/2492 รูปหญิงเปลือยกายเฉพาะถัน ส่วนโยนีถูระบายให้ลบเลือน เป็นรูปแสดงสุขภาพอนามัยของการอาบแดด สอนวิธีเขียนส่วนสัดความงามของร่างกาย ไม่น่าเกลียด อุจาดบัดสีที่น้อมนำไปสู่ความใคร่ทางกามารมณ์ จึงไม่ใช่ภาพลามกอนาจาร 

ด้วยแนวคำพิพากษาที่กล่าวมาข้างต้น หากเป็นภาพโป๊เปลือยสื่อไปในทางยั่วยุกามารมณ์ จะส่งผลให้ภาพนั้นไร้คุณค่าทางศิลปะไปโดยปริยาย ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินหรืออัตวิสัยของผู้พิพากษาเท่านั้น

"ดังนั้น การแสดงออกของ Sex Creator บน Onlyfans ผิดกฎหมายไหม สามารถทำได้แค่ไหน และกฎหมายคุ้มครองเขาแค่ไหน ในประเทศไทย น่าคิดว่าจะลามกหรือไม่ เป็นอัตวิสัยของผู้พิพากษาจริงๆ แต่ถ้าเป็นประเทศในระบบ Common Law ก็จะมีคณะลูกขุน ร่วมกันใช้ดุลยพินิจพิจารณา แต่โดยธรรมชาติแล้ว การพิจารณาว่าสื่อลามกอนาจารมันจะเป็นอัตวิสัยของผู้พิพากษา ซึ่งถ้ายึดแนวฎีกาไปโดยไม่ได้พิจารณาบริบทของสังคม ก็เหมือนกับให้คนตายปกครองคนเป็น และเป็นการแช่แข็งศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้นเอง"

กฎหมายไทยแทบจะไม่เปิดพื้นที่ให้สื่อโป๊เปลือยเลย เหลือไว้เพียงสื่อที่ปกปิดจุกนม ไม่เห็นอวัยวะเพศ และไม่มีลักษณะยั่วยุทางกามารมณ์อย่างชัดเจนเท่านั้นที่ขึ้นมาอยู่บนดินได้ ประกอบกับบรรทัดฐานเรื่องลามก อนาจาร ซึ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังยุคอินเตอรเน็ต ที่มีทวิตเตอร์ มี Onlyfans ประเทศไทยก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ตามไปปิดกันอีก

ปราบปราม ดำเนินคดีกับ Sex Creator อาจไม่ใช่ทางออก

ทั้งนี้ อาจารย์ ดร.พัชร์ ตั้งข้อสังเกตอีกว่า การบังคับใช้กฎหมายกับสื่อโป๊เปลือยในปัจจุบันนั้น มีลักษณะเป็นการปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว และหลายๆ กรณีก็เป็นเพียงการ เชือดไก่ให้ลิงดู ทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่าหากจะจับกันจริงๆ ก็คงจับกันได้ไม่หมด แต่ทำไมถึงมี Sex Creator แค่บางคนที่ถูกดำเนินคดี

ที่สุดแล้ว สิ่งที่อยากเห็นคือ การที่คนไทยมีสุขภาวะทางเพศที่ดี มีสิทธิ และเสรีภาพมากขึ้นในการเลือกและแสดงออกในรสนิยมทางเพศของตัวเองได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายตราบใดที่การใช้สิทธิเสรีภาพตรงนี้ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น

ประเทศไทยควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถนำเสนอเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมาและถูกสุขลักษณะ มีการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม ทั้งผู้ผลิตอย่าง Sex Creator และผู้ใช้บริการ

การปราบปรามหรือจับกุมดำเนินคดีกับ Sex Creator หรือกระทั่งแรงงานทางเพศ (Sex Worker) อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีหรือเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน เพราะยิ่งเป็นการผลักให้กลุ่มคนชายขอบเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในพื้นที่อันตรายหรือมุมมืด ที่คนเหล่านี้อาจถูกกระทำหรือถูกเอาเปรียบโดยไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 

บทบาทของรัฐที่ควรจะเป็นคือการเข้ามากำกับดูแล กำหนดพื้นที่และกิจกรรมที่คนสามารถแสดงออกในเรื่องเพศได้อย่างชัดเจน เพื่อสุขอนามัยทางเพศที่ดีของประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศ

ย้ำนำคลิปหวิวเข้าระบบคอมฯ เรียกเก็บเงินมีความผิด

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตามที่มีบุคคลที่เรียกตัวเองว่า Sex Creator หรือพอร์นฮับเบอร์ (Porn hubber) นำภาพหรือคลิปของตนเองในลักษณะลามกอนาจาร เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น OnlyFans หรือเว็บไซต์อื่นที่มีลักษณะเดียวกัน รวมถึงกลุ่มลับต่างๆ ที่เปิดรับสมาชิกและมีการเรียกเก็บค่าเข้ากลุ่ม เพื่อรับชมคลิป หรือภาพลามกอนาจาร

โดยผู้ที่ปรากฏในคลิป ผู้ผลิต หรือผู้นำคลิปไปเผยแพร่ ได้รับประโยชน์ใดๆ จากผู้อื่นเป็นค่าตอบแทนจากการกระทำดังกล่าวนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด

แม้พฤติการณ์ดังกล่าวในหลายประเทศอาจถือว่าไม่เป็นความผิด แต่สำหรับประเทศไทย กฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นความผิดอย่างชัดเจน จึงขอให้เข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายด้วย และขอเรียนชี้แจ้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ดังนี้ กรณีผู้ที่ปรากฏในสื่อลามกเป็นผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป)

  •  เพื่อประสงค์แห่งการค้าฯ นำเข้า ผลิต เผยแพร่สื่อลามกอนาจารฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ป.อาญา มาตรา 287(1)
  • นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ครอบครอง สื่อลามกที่บุคคลในสื่อลามกอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ยกเว้น ครอบครองสื่อลามกเด็ก หรือ Child Pornography (บุคคลในสื่อลามกอายุต่ำกว่า 18 ปี) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม ป.อาญา มาตรา 287/1

ผู้เขียน : J. Mashare
กราฟิก : Anon Chantanan

ข้อมูลจาก Chulalongkorn University