เฟซบุ๊กเพจ "กฎหมายแรงงาน" อธิบาย ปมโรงเรียนไล่ครูสอบติดราชการออก เพราะผิดระเบียบโรงเรียน ชี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ อาจต้องจ่ายชดเชย


จากกรณีโรงเรียนชื่อดังใน จ.สงขลา ออกประกาศแจ้งบุคคลพ้นสภาพการเป็นบุคลากร เนื่องจากไปสอบบรรจุข้าราชการครู ซึ่งขัดกับประกาศของโรงเรียน ที่ระบุว่า บุคคลที่จะไปสอบข้าราชการ พนักงานข้าราชการ พนักงานเอกชน หากต้องไปสอบต้องลาออกก่อน จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ อย่างที่เคยรายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดวันที่ 29 มี.ค. 65 มีรายงานว่าเฟซบุ๊กเพจ "กฎหมายแรงงาน" มีการโพสต์ข้อความวิเคราะห์กรณีดังกล่าว โดยระบุว่า ประกาศของโรงเรียนกำหนดว่า ถ้าจะไปสอบงานต้องลาออกก่อน ไม่งั้นผิดวินัยร้ายแรง ตามที่เป็นข่าวดังและได้เขียนไปตอนแรกเมื่อช่วงเช้า พอมาเห็นประกาศของโรงเรียนเอกชน จึงขอนำประกาศนี้มาวิเคราะห์ให้ฟัง

โดย ผอ. โรงเรียนได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า "...ประกาศฉบับนี้โรงเรียน ทำถูกต้องทุกอย่าง และเรื่องนี้มีอยู่ประเด็นเดียวคือ การให้ออกเป็นหลักของปฏิบัติโรงเรียน เพราะเป็นการเสียโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนที่ครูหายไปกลางคัน จึงเป็นที่มาของการออกประกาศ กรณีการไปสอบเป็นข้าราชการทางโรงเรียนไม่เคยห้ามและเปิดโอกาสให้ครูทุกคนไปสอบ แต่ต้องลาออกก่อน" 

ทั้งนี้ กฎหมายโรงเรียนเอกชน มีความคล้ายกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานประกาศของโรงเรียน ซึ่งในทางกฎหมายแรงงาน ถือว่าประกาศดังกล่าว มีลักษณะเป็นสภาพการจ้าง เมื่อประกาศออกมาแล้ว และไม่มีการคัดค้านจากฝ่ายครู ก็มีผลบังคับใช้ได้
ฟังจากข่าว ฝ่ายครูบอกว่า ประกาศเพิ่งออกมาภายหลัง จึงไม่บังคับกับครูนั้น ความเห็นของฝ่ายครู ไม่น่าจะถูกประกาศ ซึ่งมีสถานะเป็นสภาพการจ้าง แม้ออกมาบังคับภายหลังจากเข้ามาทำงานแล้ว ก็ใช้ได้ถ้าประกาศนั้น "ชอบด้วยกฎหมาย" และ "เป็นธรรม" ประกาศของโรงเรียนเอกชนรายนี้ ที่มีข้อความว่า

...

1. ให้ผู้ที่มีความประสงค์จะไปสอบราชการ พนักงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน ลาออกจากการเป็นบุคลากรของโรงเรียน..." นอกจากนั้นยังกล่าวต่อไปว่า "กรณีสมัครสอบ โดยไม่ปฏิบัติตามข้อ 1 ถือเป็นความผิดวินัยมีโทษขั้น "ให้ออก" โดยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ตามเงื่อนไขของโรงเรียน..."

ระเบียบนี้อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุดังนี้
1) ขัดกับรัฐธรรมนูญ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๔๐ ที่ว่า "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ" ซึ่งสิทธิในการประกอบอาชีพนี้ หมายถึงสิทธิที่จะได้รับความมั่นคงในการทำงานด้วย
2) ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับต้อง "ชอบด้วยกฎหมาย" และ "เป็นธรรม" (ระเบียบกระทรวงศึกษาฯ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อ ๓๔(๖))
ดังนั้น เมื่อประกาศโรงเรียน ซึ่งมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศออกมาโดย "ขัดรัฐธรรมนูญ" จึงอ้างไม่ได้ว่า ประกาศดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าระเบียบเช่นนี้ไม่ "เป็นธรรม" ที่หมายถึง ว. ถูกต้อง. (อ้างอิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต)

เช่นนี้ หากโรงเรียนเอกชนหรือบริษัท ห้างร้าน นายจ้างต่างๆ ออกประกาศเช่นนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม การฝ่าฝืนประกาศ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จึงสามารถทำได้ และที่สำคัญหากเลิกจ้าง โดยอิงระเบียบที่ไม่ชอบก็ต้องจ่ายค่าชดเชย

จะเห็นว่าเรื่องนี้ โรงเรียนเอกชนรายนี้ หาเรื่องให้ตัวเอง เพราะการลาออก ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้ว แต่ทีนี้พอมาเลิกจ้าง ผลที่ตามมา ก็อาจมองได้ 2 ทาง คือ

1) อาจเป็นการเลิกจ้าง ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ครูคนนี้ แถมอาจต้องจ่ายค่าจ้าง แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย และอาจเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอีก

2) ศาลอาจไม่มองเป็นเลิกจ้างได้ เพราะเจตนาจะลาออกอยู่แล้ว แต่ศาลจะกำหนดความเสียหาย จากการให้ออกก่อนกำหนด

จึงเห็นได้ว่าเดิมไม่ต้องจ่ายสักบาท แต่การไม่รู้กฎหมายแรงงานมันมีต้นทุน.

ข้อมูลจาก เฟซบุ๊กเพจ กฎหมายแรงงาน