ดร.อนันต์ นักไวรัสวิทยา ไขข้อสงสัย เหตุใดคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 หายป่วยแล้วมีความเสี่ยงเป็น "เบาหวาน" 

วันที่ 25 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค สวทช. ได้เผยข้อมูลจากงานวิจัยกรณี ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานภายใน 1 ปี แม้ว่าจะมีร่างกายที่แข็งแรง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ได้โพสต์ข้อความอธิบายเพิ่มเติมว่า ต่อเนื่องจากผลการศึกษาว่าคนเคยเป็นโควิดแล้วมีความเสี่ยงของเบาหวานสูงถึง 40% เลยทำให้สนใจค้นต่อว่าไวรัสโรคโควิด-19 ไปทำอะไรกับร่างกายเราหลังได้รับเชื้อ

จำได้ว่า เคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า เซลล์ที่ชื่อว่า Beta cell ในตับอ่อนที่ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน สำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในสภาวะปกติ สามารถถูกไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปติดเชื้อและถูกทำลายได้ การสูญเสียเซลล์ที่เป็นแหล่งสร้างอินซูลินไป จึงเป็นเหตุผลตรงไปตรงมาที่อธิบายได้ว่าทำไมคนที่เป็นโควิดมาแล้วจึงมีโอกาสเป็นเบาหวานได้ ไวรัสเข้าไปถึงตับอ่อนได้อย่างไรอันนี้ยังเป็นปริศนา เพราะถ้าป้องกันได้ภาวะ Long Covid นี้คงจะสามารถป้องกันได้ไม่มากก็น้อย

ค้นไปเพิ่มเติมพบอีกการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับ ลักษณะของ Beta cell ที่ถูกไวรัส SARS-CoV-2 เข้าไปติดแล้ว อาจจะไม่ทำให้เซลล์นั้นตาย หรือสูญเสียไปอย่างเดียว เซลล์ที่ยังมีชีวิตรอดอยู่อาจเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า transdifferentiation หรือ พูดง่ายๆ คือ เป็นปรากฏการณ์ที่ไวรัสไปเปลี่ยนคุณสมบัติของเซลล์ให้ทำหน้าที่แตกต่างไป แทนที่ Beta cell จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนอินซูลิน เพื่อลดปริมาณของน้ำตาลในกระแสเลือดลง กลับถูกไวรัสกระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนกลูคากอน ที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดแทน

...

ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ป่วยโควิด และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่พบได้หลังจากหายโควิดแล้ว เพราะเซลล์ดังกล่าวยังอยู่ในร่างกายผู้ป่วยต่อไปครับ.