สถาบันโรคทรวงอก เผยสัญญาณเตือน "วัณโรค" ชี้สามารถรักษาให้หายได้หากดูแลตนเอง โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่อง แต่ถ้ามีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า "วัณโรค" เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส วัณโรคสามารถเป็นได้ทุกส่วนของอวัยวะทั่วร่างกาย และบริเวณที่พบการติดเชื้อวัณโรคมากที่สุดก็คือ "ปอด" เชื้อวัณโรคติดต่อผ่านทางระบบหายใจ โดยการแพร่เชื้อด้วยการไอ จาม ละอองฝอยเสมหะ ที่ออกมาจากผู้ป่วยที่มีเชื้อวัณโรคในปอด กระจายอยู่ในอากาศและตกลงสู่พื้น โดยผู้ที่สูดหายใจรับเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อและป่วยเป็นวัณโรคได้

นอกจากการติดเชื้อที่ปอดแล้ว เชื้ออาจจะกระจายไปส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น สมอง, กระดูก, ต่อมน้ำเหลือง, ไต, ผิวหนัง อาการของวัณโรคจะมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ อาจมีเหงื่อออกมากตอนกลางคืน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ผอมลง เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก หากเป็นนานๆ อาจไอมีเลือดปนออกมา

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ ไอแห้ง หรือมีเสมหะปนเลือด หรืออาศัยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรค หรือเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง เช่น เบาหวาน, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยการเอกซเรย์ดูความผิดปกติของปอด ตรวจเสมหะเพื่อหาเชื้อวัณโรค ซักประวัติ และตรวจร่างกาย

ทางด้าน นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคสามารถรักษาให้หายได้โดยการรับประทานยาต่อเนื่องตามแพทย์สั่งอย่างน้อย 4 ชนิด เป็นระยะเวลา 6 เดือน มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ระหว่างรับประทานยารักษาวัณโรค

...

โดยการรักษาด้วยการใช้ยา สามารถมีอาการข้างเคียงได้บ้าง เช่น เป็นตับอักเสบ มีผื่นขึ้นตามตัว ผิวหนังเป็นรอยช้ำ ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้ อาเจียน สายตาฝ้าฟาง มองไม่ชัดเจน หูอื้อ เดินเซเสียการทรงตัว หากเกิดปัญหาจากการใช้ยาอย่าเพิ่งหยุดยา หรือควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรับการใช้ยา หรือปรับชนิดของยาเพื่อการใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา หรือเพิ่งเริ่มรับประทานยาได้ 2 สัปดาห์ ควรแยกห้องนอน หลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาไอ จาม บริเวณที่อยู่อาศัยควรเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก แสงแดดส่องถึง ไม่บ้วนเสมหะ หรือน้ำลายลงพื้น รับประทานยาให้ครบทุกเม็ดทุกมื้อตามแผนการรักษาของแพทย์ และถ้าหากมีอาการผิดปกติให้รีบมาพบแพทย์ทันที.