อาสาสมัครวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA ตัวแรกของไทย มารีวิวอาการละเอียดยิบ พร้อมบอกมีผลข้างเคียงน้อย สร้างภูมิได้สูงใกล้เคียง "ไฟเซอร์" แต่มีแนวโน้มว่า เม.ย.นี้ อาจจะยังไม่ได้ฉีดให้คนทั่วไป
ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Voraphon Soponvutikul โพสต์ข้อความเล่าประสบการณ์ "การเป็นอาสาสมัครที่ร่วมทดสอบวัคซีน ChulaCov19" โดยระบุข้อความว่า รีวิวการเป็นอาสาสมัคร Chulacov19 แบบสั้นๆ อาการไม่มาก ไข้ต่ำ+ปวดแขนไม่กี่วัน ภูมิขึ้นสูงป้องกันได้ดีพอๆ กับไฟเซอร์ แต่มีแนวโน้มว่าเม.ย.นี้ จะไม่ได้ให้คนทั่วไปฉีด (เหตุผลอ่านสรุปด้านล่างสุด)
เมื่อเดือนมิ.ย. ทางจุฬาฯ ได้มีการเปิดรับอาสาสมัครทดสอบวัคซีน chulacov19 ในเฟส 2 ก็ได้ลองไปสมัคร เนื่องจากโดนเทจากวัคซีนแอสตราเซเนกาของหน่วยงานรัฐ 2-3 รอบ ในการทดสอบวัคซีนจะแบ่งเป็น ทดลองกับสัตว์แล้วไม่เป็นอันตราย เฟส 1 ทดสอบปริมาณกับมนุษย์ในกลุ่มเล็กๆ เฟส 2 เมื่อได้ปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมแล้ว ก็ใช้ปริมาณนี้ในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น เฟส 3 (ฉีดในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้นกว่าเฟส 2)
ขณะที่ chulacov19 เปิดรับสมัครนี้อยู่ในเฟส 2 ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีและแข็งแรง โดยทางโรงพยาบาล จะมีการตรวจสุขภาพและซักประวัติ ก่อนจะแจ้งว่าผ่านหรือไม่ และไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ ทางโครงการวิจัยฯ มีค่าเดินทางให้อาสามัคร ครั้งละ 1,000 บาท (เป็นเหตุผลว่าทำไมตอนออกข่าวงบพัฒนาวัคซีน chulacov ถึงสูงระดับพันล้านบาท)
ทั้งนี้ เมื่อผ่านการตรวจร่างกายแล้ว ก็จะเรียกมาเซ็นข้อตกลงใจความสำคัญ ดังนี้
- โรงพยาบาลจะปกปิดข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างในงานวิจัย จะใช้รหัสแทนชื่อ
- มีการตรวจเลือดทุกรอบที่มาโรงพยาบาล (ใช้เลือดราวๆ 40-60 CC)
- ถ้าฉีดแล้วมีผลข้างเคียง รักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ฟรี
- หากติดโควิดรักษาฟรีที่ รพ.จุฬาฯ (อันนี้ที่สอบถาม ยังไม่มีคนใช้บริการ คือมีคนติดแต่ไม่หนักถึงขั้นเข้า รพ. แค่เป็น Home/Hotel Isolation ก็หายเอง)
- ห้ามบริจาคเลือด ตลอดระยะเวลาโครงการ
- ห้ามฉีดวัคซีน covid ยี่ห้ออื่นโดยพลการ
- ห้ามติด covid ก่อนฉีดวัคซีน
- ไม่มีข้อมูลลงหมอพร้อม ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ เป็นหลักฐานในการฉีดวัคซีนเท่านั้น
- ถ้าไม่สบายใจ จะออกจากโครงการเมื่อไรก็ได้ ไม่มีภาระผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น
- การฉีดมีวัคซีนจริง 80% วัคซีนหลอก 20% (อาสา 150 คน มีฉีดน้ำเกลือ 30 คน ซึ่งถ้าใครได้น้ำเกลือก็จะได้ฉีดไฟเซอร์ในวันที่เฉลย)
- มีงานวิจัยที่ทำควบคู่กับการวิจัยวัคซีนนี้อีกตัวคือ วิจัยเรื่องแบคทีเรียในลำไส้ ส่งผลต่อภูมิของไวรัสหรือไม่ โดยจะตรวจอุจจาระทุกครั้งที่ไปที่โรงพยาบาล
...
จากนั้น เมื่อตกลงเป็นอาสาสมัครแล้ว ก็รอจนทางจุฬาฯ พร้อมฉีดวัคซีนให้ช่วงต้นเดือน ก.ย. ซึ่งเงื่อนไขที่ว่าก่อนฉีดวัคซีนห้ามติดโควิด ค่อนข้างท้าทายมาก เพราะช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. นั้น เดลต้าระบาดหนักมาก บ้านตนก็อยู่ในแหล่งชุมชน หน้าตลาดนางเลิ้ง แค่ไปซื้อข้าวในตลาดก็เสี่ยงแล้ว แต่จนแล้วจนรอด ก็ยังอยู่รอดไม่ติดเชื้อและได้ฉีดวัคซีน ซึ่งในวันที่ฉีดนั้น เขาจะมีใบให้กรอกอาการและอุณหภูมิร่างกาย ในแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน
เมื่อฉีดเข็มแรกที่แขนด้านซ้าย มีอาการ ง่วงๆ เพลียๆ นิดเดียวในวันแรก แต่ปวดแขนตรงที่ฉีด ยกแขน 90 องศา แล้วปวด แต่สามารถถือของได้ปกติ (ทดลองข้าวสาร 10 โล ก็ถือได้สบาย) วันต่อมาอาการทุกอย่างหายหมด ยกเว้นปวดแขน แค่ลูกซบไหล่ก็สะดุ้ง แขนยังคงปวด แต่ช่วงกลางคืนเริ่มดีขึ้น ยกแขน 90 องศาไม่ปวดแล้ว แต่ถ้า 135-180 องศา จะรู้สึกปวดแต่น้อยมากๆ ไม่กระทบชีวิตประจำวัน
และเมื่อฉีดเข็มสองที่แขนด้านขวา (เขาขอว่าให้สลับด้าน) มีอาการไข้ตอนกลางคืน ราวๆ 37.9 องศา และเพลียในวันรุ่งขึ้นแค่นั้น ส่วนแขนก็ปวดเหมือนเข็มแรก ถึงตอนนี้ก็เบาใจได้ว่า คงไม่น่าใช่น้ำเกลือแล้ว และเมื่อทาง รพ.นัดตรวจ ก็เฉลยใน 1 อาทิตย์ต่อมา ก็เป็นไปตามคาดว่าเป็นวัคซีนจริง โดยในการตรวจภูมิครั้งนี้ภูมิขึ้นราวๆ 9,000 หน่วย (ไม่แน่ใจว่าใช้หน่วยไหน เพราะหมอไม่ได้แจ้ง)
จากนั้นอีก 2 อาทิตย์ ก็นัดเข้ามาตรวจอีกรอบหนึ่ง ซึ่งภูมิขึ้นเวอร์วังอลังการมากที่ 23,000 หน่วย (หมอบอกว่าบางคนขึ้นไป 30,000 หน่วยก็มี) จากนั้นก็กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งการ์ดตกมาบ้าง เช่น ใส่หน้ากากชั้นเดียว (ก่อนหน้านี้ใส่สองชั้น และใส่แว่นตากันลม ป้องกันละอองฝอยเข้าตา) แต่ก็ไม่ได้ไปทำพฤติกรรมอะไรที่เสี่ยง แค่ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังตามวิถี New normal เช่น เข้าทานข้าวร้านอาหาร, ไปงานพลุพัทยา ฯลฯ และไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน (ซึ่งก็ยังไม่ติดเชื้อจนถึงทุกวันนี้)
เมื่อผ่านไปอีก 3 เดือน (กลางเดือน ธ.ค.) ทางจุฬาฯ นัดมาตรวจอีกรอบ งวดนี้ภูมิตกเป็นน้ำตกอยู่ที่ 5,500 หน่วย ทางจุฬาจึงสอบถามความสมัครใจ ว่าจะฉีดเข็มกระตุ้นกลางเดือน มี.ค.หรือไม่ ซึ่งปกติ mRNA จะฉีดเข็มกระตุ้นราวๆ 5-6 เดือนหลังฉีดเข็ม 2 ตนจึงตอบว่า ถ้าไม่เป็นการกระทบกับการทดลองก็ขอฉีด เพราะตัวโอมิครอนควรฉีดเข็มกระตุ้นด้วย จึงจะป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งก็เพิ่งมาได้ฉีดเมื่อเช้าวันนี้ เป็นวัคซีนไฟเซอร์ ตอนแรกงงว่าทำไมเป็นไฟเซอร์ ไม่เป็น chulacov19 เหมือนเดิม จึงไปถามหมอได้ความว่า ทาง chulacov19 ตัวที่ผลิตที่โรงงานในอเมริกา ได้รับอนุญาตจาก อย. ให้ฉีดในมนุษย์แล้ว (ไม่แน่ใจว่าผ่าน อย. หรือว่าขอแค่ทำงานวิจัย) แต่ทางจุฬาฯ ย้ายโรงงานมาผลิตในไทย จึงทำให้ต้องมาขออนุญาต อย. ใหม่อีกรอบ ซึ่งก็ไม่รู้อีกว่าตัวที่ผลิตโรงงานในไทย จะต้องทำการทดลองเฟส 1 ใหม่เลยไหม ถ้าใช่นี่น่าเศร้ามาก และพูดได้เลยว่าที่ หมอเกียรติ พูดไว้ว่าน่าจะได้ฉีดช่วงเดือน เม.ย. คงเลื่อนออกไปเพราะเรื่องเปลี่ยนโรงงานผลิต
สุดท้ายนี้ บอกเลยว่าวัคซีน chulacov19 ดีจริง ผลข้างเคียงน้อย สร้างภูมิได้มาก พอๆ กับของไฟเซอร์ นอกจากนี้ทางจุฬาฯ ก็จะพัฒนาเทคโนโลยี mRNA นี้ ไปเป็นวัคซีนป้องกัน/รักษาโรคอย่างอื่นอีก เช่น HIV, ไข้เลือดออก, ไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิดที่มีสาเหตุจากไวรัส เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก ซึ่งทางผมก็ได้นำเงินค่าเดินทางที่จุฬาฯ ให้ ไปบริจาคคืนเข้าโครงการทุกบาททุกสตางค์ สนับสนุนให้คนไทยได้มีวัคซีนที่ดีไม่แพ้ต่างประเทศใช้ต่อไปในอนาคต.
ขอบคุณเฟซบุ๊ก Voraphon Soponvutikul