• โรค PCOS คืออะไร เกิดจากอะไร มีอันตรายยังไงบ้าง
  • วิธีการรักษาผู้ป่วย PCOS จากประสบการณ์ของ สูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามีบุตรยาก
  • คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย PCOS จะต้องดูแลตัวเองยังไงดี

หากพูดถึง "ประจำเดือน" เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่มาคู่กันกับ "ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์" ทั้งยังต้องวนกลับมาพบกันทุกเดือน เมื่อไหร่ที่ประจำเดือนเกิดหายหน้าหายตาไป หรือมาช้าไปจากเดิม อาจทำให้หลายคนเกิดความกังวลใจ จนกลายเป็นปัญหาหนึ่งของสาวๆ หลายคน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติบางอย่างในร่างกาย และส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องดี

ประจำเดือน (Menstruation) คือ เลือดที่ไหลมาจากทางช่องคลอดในทุกๆ เดือน หรือทุก 21-35 วัน แต่ละเดือนจะมาประมาณ 3-7 วัน เกิดจากการที่ร่างกายของผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงมักจะมีประจำเดือนครั้งแรกตอนอายุประมาณ 10-15 ปี ซึ่งประจำเดือนเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนหลังเกิดการปฏิสนธิ รวมถึงทำให้ไข่เดินทางออกจากท่อนำไข่มารอการผสมกับสเปิร์มหรือตัวอสุจิ แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่มีการผสมกันระหว่างไข่และสเปิร์ม เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดออกมาเป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง

...

แต่สาเหตุที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ เกิดการตั้งครรภ์, ความเครียด, การออกกำลังกายหนักเกินไป, การเป็นโรคเรื้อรัง, การรับประทานยาบางตัว, เริ่มเข้าสู่วัยทอง หรือโรค PCOS ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ที่กลายเป็นความกังวลใจอย่างมากให้กับสาวๆ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

พ.ต.ต.แพทย์หญิงจิตสุภา คุณาเศรษฐ หรือ หมอขิม สูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามีบุตรยาก ประจำโรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลวิภาวดี เล่าว่า โรค PCOS หรือ Polycystic Ovary Syndrome คือภาวะที่ฟองไข่โตค้างในรังไข่แล้วไม่ตกไข่ออกมา สะสมเป็นถุงน้ำเล็กๆ หลายใบในรังไข่ พบได้บ่อยราวๆ 1 ใน 10 ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือ ประจำเดือนขาดหลายๆ เดือน สิวขึ้นเยอะ หน้ามัน ไรหนวดเข้มชัด รวมทั้งอาจมีลูกยากได้ด้วย

สำหรับสาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัด แต่เชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลอยู่บ้าง นอกจากนั้นปัญหาสุขภาพบางอย่างก็ส่งเสริมให้เป็น PCOS ได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ได้แก่ โรคอ้วน หรือภาวะน้ำหนักตัวเกิน ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน รวมทั้งการไม่ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพด้วย ทั้งหมดไปส่งผลให้เกิดจากความผิดปกติของรังไข่ ทำให้มีภาวะของฮอร์โมนไม่ปกติจนไข่ไม่ตกนั่นเอง

มีงานวิจัยพบว่า อันตรายของโรค PCOS นอกจากการที่ไข่ไม่ตก จนประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, โรคหัวใจ, โรคมะเร็งโพรงมดลูก ในส่วนของวัยเจริญพันธุ์ผู้หญิงที่เป็นโรค PCOS ยังต้องเผชิญกับการมีลูกยากอีกด้วย รวมทั้งหากท้องได้ ก็มีความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และภาวะแท้งได้มากกว่าปกติได้

ส่วนความเข้าใจที่ว่าเป็นโรค PCOS แล้วจะมีลูกเองไม่ได้ เป็นความเข้าใจที่ผิด หากผู้ป่วยเป็น PCOS แล้วอยากมีลูก ข่าวดีคือคุณยังมีโอกาสที่จะท้องเองได้ตามธรรมชาติ เพราะในคนที่เป็น PCOS จะมีภาวะไม่ตกไข่ (ซึ่งทำให้ไม่ท้อง) อยู่ราวๆ 75% อีกราวๆ 1 ใน 4 ก็ยังเจอว่ามีไข่ตกห่างๆ ได้ ทำให้คนที่เป็น PCOS โดยเฉพาะยิ่งในรายที่อายุไม่มาก ก็ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่จะท้องเองได้อยู่ แต่เมื่อคุณได้ลองวิธีธรรมชาติดูแล้ว 6-12 เดือนยังไม่ท้อง คุณควรเข้าไปปรึกษาหมอผู้เชี่ยวชาญ คุณหมอจะทำการประเมินหาสาเหตุการมีลูกยากทั้งหมดของคุณและของคู่คุณ ประเมินภาวะสุขภาพอื่นๆที่จะเพิ่มความเสี่ยงถ้าตั้งท้อง ทีนี้การรักษาก็จะขึ้นกับความรุนแรงของโรค และสาเหตุภาวะมีลูกยากอื่นๆ ด้วย

คนที่เป็น PCOS มักมาคู่กับภาวะน้ำหนักเกิน และภาวะอ้วน ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน มีการผลิตฮอร์โมนเพศที่ไม่สมดุล และมักส่งผลต่อรังไข่ ทำให้ไม่ตกไข่ กลุ่มนี้การลดน้ำหนัก แม้เพียง 5% จากน้ำหนักตั้งต้น ก็มักได้ผลทำให้ไข่กลับมาตกได้ดี คนที่เป็น PCOS และมีโรคอ้วน ควรจะลดน้ำหนักก่อนท้อง เพราะการเป็นโรคอ้วนเอง นอกจากจะท้องยากแล้ว พอท้องได้ก็ยังเสี่ยงช่วงท้องอีกหลายอย่าง เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และครรภ์เป็นพิษ

ทั้งนี้ หมอมักจะแนะนำให้ลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป และทำภายใต้ความดูแลของแพทย์เป็นหลัก โดยวิธีหลักๆ คือ การจำกัดอาหาร และการออกกำลังกาย มีบางรายอาจใช้การผ่าตัดกระเพาะอาหารช่วยในคนไข้โรคอ้วนรุนแรง ซึ่งในกลุ่มหลังจะต้องเว้นระยะการมีลูกไปราวๆ 1 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อโภชนาการในช่วงตั้งท้อง

พ.ต.ต.แพทย์หญิงจิตสุภา คุณาเศรษฐ สูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามีบุตรยาก
พ.ต.ต.แพทย์หญิงจิตสุภา คุณาเศรษฐ สูตินรีแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามีบุตรยาก

วิธีการรักษาผู้ป่วย PCOS

การรักษาภาวะมีบุตรยากในคนที่เป็น PCOS จากประสบการณ์ของหมอ มีตั้งแต่รายที่ง่ายไปยาก รายที่ไม่ซับซ้อน และไม่มีปัญหาเรื่องมีลูกยากด้านอื่นๆ จะใช้ยากระตุ้นไข่ แล้วใช้วิธีให้มีเพศสัมพันธ์กันเอง ซึ่งสำเร็จ ตั้งท้องมาหลายราย ขณะที่เคสที่ยากขึ้นมาหน่อย เช่น สามีมีน้ำเชื้ออสุจิอ่อนเล็กน้อย หมอจะใช้เป็นยากระตุ้นไข่และทำการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก หรือที่เรียกว่า IUI เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสให้ท้องสำเร็จมากขึ้น

ส่วนในรายที่มีปัญหาซับซ้อน เช่น ท่อนำไข่อุดตันร่วมด้วย หรือผ่านการรักษาด้วยวิธีข้างต้นมาแล้วยังไม่ท้อง หมอมักจะใช้การรักษาด้วยเทคโนโลยีเด็กหลอดแก้วเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จ การรักษาในกลุ่มหลังอัตราสำเร็จจะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของตัวอ่อน รวมทั้งสภาพโพรงมดลูกด้วย

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วย PCOS จะต้องดูแลตัวเองยังไง

สิ่งแรกเมื่อรู้ตัวว่าเป็นโรค PCOS คืออย่าเพิ่งเครียดจนเกินไป แม้ว่าโรคนี้จะค่อนข้างเรื้อรัง แต่ก็มีทางรักษา และมักไม่ส่งผลจนถึงขั้นก่อมะเร็ง หากดูแลตัวเองอย่างดี ติดตามการรักษากับคุณหมอสม่ำเสมอ เริ่มต้นคุณหมอจะคุยให้ฟังถึงความเสี่ยงของภาวะสุขภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ในคนที่เป็น PCOS การรักษามักจะทำควบคู่กันทั้งการดูแลตัวเอง คุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจเช็กสุขภาพหาโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันเลือดสูง ตามวงรอบ แล้วต้องมานั่งพูดคุยกันเรื่องการวางแผนเรื่องการมีลูก รายที่อยากมีลูก ก็จะมุ่งเน้นรักษาเพื่อให้ตกไข่ รายที่ยังไม่ได้อยากมีลูก ก็มักให้ฮอร์โมนให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงของมะเร็งโพรงมดลูก

ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยโรค PCOS

ขณะที่ สาววัย 27 ปี เล่าประสบการณ์ตอนป่วยเป็นโรค PCOS ให้ฟังว่า ตั้งแต่เริ่มเป็นประจำเดือนครั้งแรก ผู้ใหญ่ที่บ้านก็ให้เรากลั้นใจถัดบันได 3 ขั้น ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นประจำเดือนแค่ 3 วัน หลังจากนั้นเราก็เป็นประจำเดือน 2-3 วันมาตลอด ด้วยความที่คิดว่าประจำเดือนมาน้อยตั้งแต่เด็กคงไม่ได้ผิดปกติอะไร กระทั่งอายุ 26 ปี เริ่มมีอาการปวดท้องน้อย ปวดขามากๆ ในช่วงมีประจำเดือน ซ้ำยังเป็นแค่ 1-2 วันเท่านั้น บางเดือนมาเพียงครึ่งวันหมดแล้วเดือนนั้นทั้งเดือนก็ไม่มาอีกเลย

ตอนนั้นเริ่มคิดแล้วว่าคงไม่ใช่อาการปกติ จึงตัดสินใจไปหาหมอเพื่อตรวจภายใน ก็พบว่ามีภาวะ PCOS คือมีถุงน้ำในรังไข่จำนวนมากหลายใบ ส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยลงกว่าปกติ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยการทานยาคุมเป็นเวลา 1 ปี และลดน้ำหนักควบคู่ไปด้วย ตามคำแนะนำของแพทย์ 

และเมื่อทำการอัลตราซาวนด์ ก็พบว่าถุงน้ำในรังไข่หายไปเกือบหมด และประจำเดือนก็เริ่มมาปกติ ถือว่าโชคดีมากที่ตนรักษาแล้วหายไว แต่คุณหมอก็ได้แนะนำว่าสามารถกลับมาเป็นได้อีก ฉะนั้นควรจะต้องดูแลตัวเอง ควบคุมน้ำหนัก และหมั่นตรวจภายในเพื่อเช็กความผิดปกติของร่างกายทุกๆ ปี

สุดท้ายนี้ คุณหมอจิตสุภา ฝากแนะนำ สำหรับผู้หญิงมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมีอาการอื่นๆ ที่เข่าข่ายจะเป็นโรค PCOS อยากให้เข้ามาพบหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุที่ถูกต้อง และจะได้รักษากันแต่เนิ่นๆ และต่อเนื่อง.

ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ

กราฟิก : CHONTICHA PINIJROB