สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจและเป็นประเด็นที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกี่ยวกับการจัดงานวิวาห์ล่ม โดยเธออ้างว่า คบหาดูใจกับฝ่ายชายมา 9 ปี ต่อมาตกลงที่จะแต่งงานกัน และมีการถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง กำหนดวันแต่งงานตามฤกษ์งามยามดี เตรียมงานแต่งงานเรียบร้อยเป็นอย่างดี แต่ฝ่ายชายกลับไม่มางานแต่งงาน จนสร้างความเสียหายให้กับเธอ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่และแขกที่มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ส่วนฝ่ายชายก็ให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ไม่มาร่วมงานแต่งงานนั้น เนื่องจากไม่สามารถที่จะหาเงินค่าสินสอดมาให้ฝ่ายหญิงได้ครบจำนวน ตามที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงเรียกร้อง

จากข่าวนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ กรณีที่ฝ่ายชายไม่มาร่วมงานแต่งงาน หรือไม่มาจดทะเบียนสมรสกับฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงสามารถที่จะเรียกร้องอะไรได้บ้าง

ผมขออนุญาตแยกเป็น 2 กรณีนะครับ

กรณีแรก หากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายไม่ได้ทำสัญญาหมั้น ฝ่ายหญิงจะเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย เนื่องจากไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้

กรณีที่สอง หากฝ่ายหญิงและฝ่ายชายทำสัญญาหมั้น โดยมีการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้นในอนาคต ซึ่งคำว่า “สมรส” นั้นหมายถึง การจดทะเบียนสมรสนะครับ ไม่ใช่เพียงแค่การฉลองมงคลสมรส หรือเพียงแค่จัดงานแต่งงานเท่านั้น

เมื่อมีการหมั้นตามกฎหมาย และฝ่ายชายผิดสัญญาหมั้น โดยไม่มาจดทะเบียนสมรส หรือไม่มางานแต่งงาน ฝ่ายหญิงมีสิทธิ์ที่จะริบของหมั้น และมีสิทธิ์เรียกค่าทดแทนได้ รวมถึงมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดงาน ค่าเสียหายต่อการเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือหากมีค่าเสียหายที่เกิดจากการประกอบอาชีพ ก็สามารถที่จะเรียกร้องจากฝ่ายชายได้

...

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์เรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย

มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกาย หรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดาหรือบุคคล ผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้ เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส

ดังนั้น หากตกลงปลงใจที่จะแต่งงานกับใครแล้ว ควรทำการหมั้นก่อน และกำหนดวันที่จะจดทะเบียนสมรสอย่างชัดเจน ไม่ใช่เพียงแค่กำหนดวันที่จะจัดงานแต่งงานเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาก็สามารถที่จะมีสิทธิ์ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายได้

สำหรับท่านที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com ได้เลยครับ หรื