• อยากไปโรงเรียน เพราะหลายครั้งที่เรียนออนไลน์ แล้วไม่เข้าใจ ก็ถามใครไม่ได้ทันที แถมการบ้านเยอะกว่าปกติ แต่ก็กลัวจะติดโควิด เพราะรู้ว่าฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้ เสียงสะท้อนจากเด็กมัธยม ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้ว
  • จากบทเรียนของ "โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์" ทำให้ผู้ปกครองบางคนเริ่มไม่มั่นใจ หากลูกหลานต้องกลับไปเรียน On-site
  • กระทรวงศึกษาธิการ กับการเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียน ออกมาตรการเพื่อควบคุมโควิด-19

หลังจากโรงเรียนหลายแห่ง ประกาศเปิดการเรียนการสอน ภาคเรียน 2/2564 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา นักเรียนหลายคน ก็คงจะได้กลับไปเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่จะได้กลับไปเปิดโลก เจอเพื่อน เจอคุณครูที่โรงเรียนอีกครั้ง ขณะที่อีกหลายโรงเรียน ยังประกาศให้เรียนออนไลน์ต่อ แม้เด็กนักเรียนในโรงเรียนส่วนหนึ่ง จะได้รับการฉีดวัคซีน mRNA (ไฟเซอร์) แล้วก็ตาม



อยากไปโรงเรียน อยากเจอเพื่อน แต่ก็กลัวโควิด

...

จากการพูดคุยกับนักเรียนชาย ชั้น ม.5 คนหนึ่ง เล่าให้เราฟังว่า เขาได้รับวัคซีนไฟเซอร์มาแล้ว 1 เข็ม เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งทางโรงเรียนได้ประกาศให้เรียนออนไลน์ แต่ความรู้สึกของตัวเอง จริงๆ อยากกลับไปเรียนที่โรงเรียน เนื่องจากอยากเจอเพื่อนบ้าง อยากไปใช้ชีวิตแบบเดิม แต่ก็ยอมรับว่ากลัวติดโควิด-19

เมื่อถามว่า ชอบเรียนแบบไหนมากกว่า น้องบอกว่า ชอบคนละแบบ ชอบการเรียนออนไลน์ ตรงที่เราไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเดินทาง แต่ก็รู้สึกว่า การเรียนในห้องเรียน ตัวเองมีสมาธิมากกว่า และครูก็ใส่ใจมากกว่า รวมถึงการบ้านไม่เยอะ เหมือนการเรียนออนไลน์ด้วย

นอกจากนั้น การเรียนออนไลน์ ต้องเรียนอยู่ในห้องเงียบๆ ไม่เข้าใจก็ไม่รู้จะถามใคร เพราะบางครั้ง ครูก็ไปเร็วมาก จะถามเพื่อน ก็ต้องรอให้เรียนจบก่อน ไม่ใช่หันไปถามได้เลย เหมือนตอนที่เรียนในห้องเรียน อีกทั้งที่บ้านยังมีเสียงรบกวนด้วย 

คะแนนทิพย์ มากน้อย วัดการเรียนได้จริงหรือ

คุยกันอย่างตรงไปตรงมา เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ พ่อแม่นอกจากเป็นผู้ช่วยในการเรียนแล้ว ยังเป็นผู้ช่วยในการทำการบ้านด้วย ยิ่งเป็นเด็กระดับชั้นเล็กๆ ผู้ปกครองก็อดไม่ได้ที่จะช่วยทำงานส่ง ไม่ว่าจะเป็นวาดรูป งานประดิษฐ์ หรือ Mindmap เพื่อแลกกับคะแนนเก็บ แทนการสอบวัดความรู้กลางเทอม ปลายเทอม

เมื่อเกรดออกมาแล้วได้เกรดสูงๆ แม้เด็กจะเกิดความภูมิใจ แต่ผู้ปกครองอาจจะต้องฉุกคิดสักนิด ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าหากปล่อยให้เด็กเรียนรู้ หรือทำงานส่งครูเอง คะแนนจะเหลือเท่าไหร่

กลับกันอีกด้าน ก่อนหน้านี้ในโลกโซเชียลมีการแชร์บทสนทนาแชตไลน์กลุ่มของนักเรียนกับอาจารย์ ที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดจากการสอนของอาจารย์ เมื่อนักเรียนซึ่งส่งงานครบทุกวิชา เมื่อเกรดออกมา กลับได้เกรด 1 เมื่อขอดูคะแนนเก็บ ก็ถูกปฏิเสธ ซึ่งเคสนี้พบว่าอาจารย์เองหายไประหว่างการสอน สายหลุดไปเฉยๆ จนต้องยกคลาสหลายครั้ง

บทเรียนจาก "โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์" ทำให้ผู้ปกครองกังวล


ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่า พบคลัสเตอร์ที่ "โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์" จ.มุกดาหาร หลังการตรวจ ATK นักเรียน คณะครู และเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน กว่าพันคน พบ ATK แสดงผลบวกเกือบร้อยคน ทำให้ต้องกักตัวคนทั้งโรงเรียน วุ่นไปถึงผู้ปกครองที่เป็นห่วงลูกหลาน ต้องหอบข้าวของหิ้วอาหารมาให้ ก่อนที่จะมีการตรวจยืนยันด้วยผล RT-PCR ผลออกมาเป็นลบทุกคน เรียกว่าได้หายใจหายคอได้คล่องขึ้น

แต่ก็เป็นบทเรียนให้ผู้ปกครองหลายคน กลับมาคิดถึงสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ หากเกิดขึ้นกับโรงเรียนของลูกหลานเราจะเป็นอย่างไร

ผู้ปกครองรายหนึ่ง บอกกับเราว่า ตอนนี้รู้สึกว่าโชคดีที่ลูกได้เรียนออนไลน์ แม้ว่าเราจะเหนื่อยหน่อย ในการเป็นลูกมือ ช่วยสอนลูกในการเรียนแต่ละคาบ แต่ก็หมดกังวลเรื่องโควิดไปได้บ้าง เพราะลูกเราก็ยังไม่โตมาก ความเผอเรอ ก็ยังมีตามประสา ซึ่งเราก็ชดเชยให้ลูก ด้วยการพาออกไปเปลี่ยนบรรยากาศข้างนอกบ้าง แต่ก็ต้องเลือกที่คนน้อยหน่อย ไม่แออัด

แต่หากว่าลูกต้องไปเรียนที่โรงเรียนแล้วติดโควิด หากรู้เร็ว เราอาจจะโชคดี แต่มันจะไม่ใช่แบบนั้น เพราะกว่าจะรู้ ก็เชื่อว่าอาจจะติดเชื้อกันไปทั้งบ้านแล้วก็ได้ ยิ่งตอนนี้เปิดประเทศแล้ว โควิดสายพันธุ์เดลตาพลัสก็มีแล้วในประเทศ อะไรที่เราป้องกันได้ เราก็อยากป้องกัน

ถามว่า เป็นห่วงเรื่องการเรียนของลูกไหม ก็ต้องยอมรับว่าห่วง เพราะหลายครั้งที่เราก็ต้องทำงานของตัวเองไปด้วยเหมือนกัน ก็อาจจะมีบางจังหวะ ที่เราไม่ได้เรียนไปกับเขา บางครั้งเคยคิดถึงขั้นว่า จะให้ลูกดร็อปเรียนดีไหม แล้วค่อยไปเริ่มใหม่ในปีหน้า ซึ่งคาดว่า สถานการณ์น่าจะดีกว่านี้ แต่ก็คิดกลับอีกว่า แล้วถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ลูกเราต้องดร็อปไปเรื่อยๆ หรือไม่ ตรงนี้ก็อยากจะฝากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ หรือทางโรงเรียน จัดโซลูชั่นที่เหมาะสมกับการเรียนออนไลน์ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากต้องยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ สำหรับประเทศเรา และลูกหลานเรา



ไม่มั่นใจ เลือกเรียนออนไลน์ได้

ทั้งนี้ จากการสอบถาม หลายโรงเรียนที่เปิดทำการเรียนการสอนภาคเรียน ที่ 2/2564 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งโรงเรียนบางแห่ง ก็ยังให้นักเรียนเรียนออนไลน์ แทนการมาเรียนที่โรงเรียนอยู่ 

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า มีโรงเรียนที่เปิดเรียน On-Site วันที่ 1 พ.ย.64 ได้ 11,015 โรงเรียน สามารถจัดการเรียนการสอนได้หลากหลายทั้ง On-Site หรือ Online หรือผสมผสาน โดยจัดนักเรียนห้องเรียนขนาดปกติ ไม่เกิน 25 คน หรือเว้นระยะห่างระหว่างนักเรียนในห้องเรียนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

โรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนห้องละไม่เกิน 25 คน สามารถเปิดเรียนได้เต็มรูปแบบ แต่หากโรงเรียนใดมีนักเรียนในห้องเกิน 25 คน อาจสลับวันเรียนหรือสลับชั้นเรียนได้ ระยะแรกต้องให้โอกาสผู้ปกครองและเด็ก หากเปิดเรียนแล้วผู้ปกครองและเด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย สามารถเรียนที่บ้านได้เช่นเดิม

สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่สีแดงและสีแดงเข้ม มีข้อกำหนดว่าครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม ถึงร้อยละ 85 จึงสามารถเปิดเรียน On-Site ได้ ขณะนี้มีโรงเรียนหลายแห่งทยอยขอเปิด On-Site อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการอนุมัติขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละพื้นที่ และสิ่งที่จะเผชิญเหตุในอนาคตด้วย หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลง ก็สามารถเปิดเรียน On-Site ได้ตามแผน

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในส่วนของสถานศึกษา และครูก็ได้เตรียมพร้อมทั้งการจัดระบบคัดกรองก่อนเข้าโรงเรียน นักเรียน ครู และบุคลากร ทุกคนต้องประเมิน Thai Save Thai (TST) ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด รวมถึงมีการสุ่มตรวจคัดกรองหาเชื้อ (ATK) การเว้นระยะห่างในการเข้าแถว การจัดสถานที่ในโรงเรียน ห้องเรียน โรงอาหาร ให้มีพื้นที่ปลอดโปร่ง พร้อมจัดจุดล้างมือไว้บริการทั่วทั้งโรงเรียน บางโรงเรียนบริหารจัดการเรื่องการเรียนการสอน โดยสลับวันมาเรียนเพื่อไม่ให้เกิดความแออัด


ศธ. ออกมาตรการคุมโควิด-19

กระทรวงศึกษาธิการ ออกประกาศ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามโดย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 

ใจความสำคัญคือ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้ผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดหรือกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดวันและเวลาทำงานของบุคลากรในสังกัด โดยให้จัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานในแต่ละวันทำงานไม่เกินร้อยละ 30 ของบุคลากรทั้งหมด โดยให้คำนึงถึงเป้าหมายการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์สูงสุดของการปฏิบัติงานเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของประชาชน

ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูง พื้นที่เฝ้าระวัง และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (ยกเว้นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ให้ผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดหรือกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ กำหนดวันและเวลาทำงานของบุคลากรในสังกัด โดยให้จัดบุคลากรหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงานในแต่ละวันทำงานตามความเหมาะสม โดยให้คำนึงถึงเป้าหมายการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์สูงสุดของการปฏิบัติงาน เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Chonticha Pinijrob