อว.ไฟเขียวปลดล็อก ไม่กำหนดระยะเวลาจบการศึกษาปริญญาทุกระดับ เรียนไม่จบไม่ต้องถูกรีไทร์-ตอบโจทย์การเรียนยุคใหม่ หนึ่งในโปรเจ็ค "12 เดือน 12 ดี" 

เมื่อวันที่ 26 ต.ค.64 ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) มีมติยกเลิกการกำหนดเวลาเรียนปริญญาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับ เพื่อตอบโจทย์การเรียนของนักศึกษา และนับเป็นหนึ่งในโครงการ "12 เดือน 12 ดี" กระทรวง อว.ว่า ยกเลิกการกำหนดเวลาเรียนปริญญาในระดับอุดมศึกษาทุกระดับ เป็นไปตามนโยบายของ  นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป  สำหรับการกำหนดระยะเวลาสำเร็จการศึกษาแบบเดิม ระดับปริญญาตรี 4 ปี ไม่เกิน 8 ปี ปริญญาโท 2 ปี ไม่เกิน 5 ปี ปริญญาเอก 3 ปี ไม่เกิน 6 ปี ด้วยเหตุผล คือ รีบเรียนรีบจบ แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยน เทคโนโลยี สังคม ที่เราจะพัฒนาคนก็เปลี่ยนไปเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Liftlong Learning ซึ่งการกำหนดรยะเวลาไม่ตอบโจทย์การพัฒนาคน เพราะระหว่างเรียนเด็กอาจไปทำงาน หรือหาประสบการณ์ต่างๆข้างนอกห้องเรียน ตามความจริงการเรียนปัจจุบัน ต้องออกไปทำงาน ทำภาคเอกชน เดินทางท่องเที่ยวหาประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ตัวเอง และกลับมาเรียนหนังสือก็จะได้สิ่งใหม่ๆมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจำกัดการศึกษาด้วยเวลา 

รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีต้องชี้แจงว่า ยังมีการรีไทร์อยู่ หากเรียนไปแล้วแต่ผลการเรียนไม่ถึงเงื่อนไข แต่หากเรียนได้ผลการเรียนดี แต่ถึงระยะเวลาที่กำหนดก็สามารถเรียนต่อได้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวนั้น ถือเป็นการปลดล็อคจากกระทรวงฯโดยเราไม่มีกรอบของเวลา ซึ่งมหาวิทยาลัยก็สามารถกำหนดเงื่อนไขของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามในอนาคต กมอ.ได้มีการวางหลักเกณฑ์ไว้ว่า ปริญญาตรีอาจจะสามารถเรียนจบได้ภายใน 2 ปี แต่ยังติดข้อจำกัดทางกฎหมาย ซึ่งเราต้องมีกฎกระทรวงมาตรฐานอุดมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือได้ว่ากระทรวง อว.จะปลดล็อคทั้งบนและล่าง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาที่หลากหลาย เพื่อสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รีบเรียนรีบจบแล้วไปเรียนอย่างอื่นเป็นการเฉพาะทางเพิ่มเติม และมีสิทธิเลือกมากขึ้น

...

"ประโยชน์ที่ได้รับจากการปลดล็อคนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้และสั่งสมองค์ความรู้ใหม่ๆ เด็กจะมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต หาประสบการณ์ได้มากขึ้น ประโยชน์ทางวิชาการ เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บางทีหลักสูตรการเรียนอาจจะไม่ก้าวทัน แต่หากเรามียืดระยะเวลาเรียน เด็กก็สามารถเลือกเรียนได้มากขึ้น อาจจะไปทำงานเอกชนหรือสตาร์ตอัพ เด็กจะสามารถรู้ว่าต้องกลับมาเรียนในสาขาวิชาอะไรเพื่อต่อยอด เพื่อจะได้เกิดนวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ใหญ่ขึ้นกว่าเดิมได้จากการปลดล็อคในครั้งนี้" รองปลัดกระทรวง อว.กล่าว