• เมื่อการ Work From Home ลบเส้นแบ่งเวลา ทำให้เวลาส่วนตัวกลายเป็นเวลาทำงาน
  • หลายคนเจอภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว กระทบไปถึง ทำให้รู้สึก "หมดไฟ" ในการทำงาน
  • Gen Z กับภาวะ "การลาออก" ไม่แคร์ Work Life Balance แต่ต้องการออกแบบตารางเวลาชีวิตอย่างอิสระ

จำได้ไหมว่า คุณเริ่มการทำงานแบบ Work From Home มานานเท่าไรแล้ว?

ช่วงแรกๆ หลายคนตื่นเต้นที่จะได้ทำงานแบบ Work From Home ซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะทำงานมาหลายปี ไม่เคยสัมผัสกับบรรยากาศแบบนี้ ถ้าวันนี้ โลกไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 คงไม่ได้หยิบโน้ตบุ๊ก มาใช้งานยาวๆ วันละ 8-9 ชั่วโมง

แต่เมื่อต้องทำงานที่บ้านหลายเดือนเข้า ไม่รู้ว่าใครเป็นเหมือนกันไหมว่า พลังในการทำงาน เหมือนถูกสูบไปมากกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเดินทาง จนบางทีคิดไปว่า หรือเรา "หมดไฟ"



จากการสำรวจความคิดเห็น ของ "อะโดบี" จากกลุ่มตัวอย่าง 5,500 คน ซึ่งประกอบด้วยพนักงานบริษัท ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ใน 7 ภูมิภาคทั่วโลก เกี่ยวกับเวลาที่รู้สึกกดดันมากที่สุด และส่งผลกระทบกับชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัวอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องเวลาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ซึ่งหนึ่งในคำถามที่น่าสนใจ คือ "ก่อนนี้เราเคยใช้เวลาราวสองชั่วโมงต่อวันเดินทางไป-กลับที่ทำงาน แต่ตอนนี้เมื่อเราทำงานจากที่บ้าน เราใช้เวลาดังกล่าวไปกับเรื่องใดบ้าง?" ซึ่งคำตอบคือ คนส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้น ไปกับการทำงานที่มากขึ้น โดย ร้อยละ 49 ของพนักงานบริษัท และ ร้อยละ 56 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า ทุกวันนี้ใช้เวลาทำงานยาวนานกว่าเดิม กล่าวคือ พนักงานบริษัททำงานโดยเฉลี่ย 44.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทำงานโดยเฉลี่ย 45.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่าชั่วโมงทำงานปกติ

นอกจากเวลาการทำงานที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังรวมถึงแรงกดดันอื่นๆ อาทิ ต้อง "พร้อมติดต่อได้เสมอ" แม้จะเป็นเวลาเลิกงาน โดยเกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานบริษัท และ 3 ใน 5 ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รู้สึกกดดันที่จะต้องตอบกลับอีเมล และแก้ปัญหาให้กับลูกค้าหลังเวลางาน

เชื่อว่า แค่คำถามนี้ หลายคนที่ทำงานที่บ้าน คงพยักหน้าหงึกๆ แล้วคิดในใจว่า "ฉันก็เผชิญอยู่"

อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ "ภาวะหมดไฟในการทำงาน" (Burnout) เรียกว่าเป็นปัญหาใหญ่ของใครหลายๆ คน และกลายเป็นปัญหาที่พบมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มากกว่า 1 ใน 3 ประสบกับปัญหาที่พนักงานรู้สึกเหนื่อยล้า และหมดไฟ เนื่องจากความเครียดจากการทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งความเครียดนี้ ยังส่งผลกระทบไปถึงชีวิตส่วนตัวด้วย 

...


ทำงานที่บ้าน = แรงจูงใจในการทำงานลดลง



เช่นเดียวกับ ผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เมื่อเดือนสิงหาคม ที่พบว่า พนักงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 52.7 ยังทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home 100% ขณะที่ร้อยละ 30.6 มีการทำงานแบบ Hybrid Work From Home คือ ในหนึ่งอาทิตย์จะมีการสลับทำงานที่บ้าน กับที่ออฟฟิศ ขณะที่อีกร้อยละ 16.7 ยังต้องทำงานที่ออฟฟิศ เนื่องจากลักษณะของงานไม่เอื้อต่อการ Work From Home ไม่ว่าจะเป็นการไม่พร้อมของอุปกรณ์ งานที่ต้องลงนามในเอกสาร เป็นต้น

และอย่างที่เกริ่นไว้ว่า หลายคนมองว่า การทำงานที่บ้านช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น Work Life Balance มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีความยืดหยุ่นด้านเวลาทำงาน ฯลฯ

แต่จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง ที่ทำงานแบบ Work From Home มาระยะหนึ่ง กลับพบว่า การทำงานที่บ้าน มีอุปสรรคในมิติต่างๆ ร้อยละ 58 ระบุว่ามีอุปสรรคด้านการทำงาน ไม่คล่องตัวเหมือนการทำงานที่ออฟฟิศ ทั้งปัญหาด้านอุปกรณ์การทำงาน ระบบไอที การสื่อสารกันในทีม หรือระหว่างทีม เป็นต้น

ตามมาด้วย ร้อยละ 58.4 มีปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ รวมถึงอุปสรรคการทำงานจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเสียงดัง ทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน ปัญหาสุขภาพจากพื้นที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม 

อีกหนึ่งผลสำรวจที่น่าสนใจคือ มุมมองพนักงาน การ Work From Home กับความก้าวหน้าในอาชีพ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 60 มองว่า การทำงานที่บ้านทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลง ร้อยละ 57.6 เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อการลดลงของเงินเดือนและสวัสดิการ ร้อยละ 18.3 เห็นว่ามีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานลดลง และร้อยละ 14.7 มองว่างานไม่มีความท้าทาย 

Gen Z กับกระแส "การลาออกครั้งใหญ่"


ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ พบว่า ช่วงเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว มีพนักงานยื่นใบลาออก กว่า 4 ล้านคน

และคาดว่า เทรนด์การลาออกนี้ จะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจพบว่า พนักงานบริษัท ร้อยละ 35 มีแผนที่จะเปลี่ยนงานในปีหน้า และ ร้อยละ 61 ของคนกลุ่มนี้ ระบุถึงเหตุผลว่าเป็นเพราะต้องการที่จะออกแบบตารางเวลาชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น

และเป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับที่สูงสำหรับคนเพิ่งเริ่มทำงาน ซึ่งแม้ว่าคน Gen Z จะเพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่กี่ปี แต่กว่าครึ่งหนึ่ง มีแผนที่จะหางานใหม่ในปีหน้า และคนกลุ่มนี้ พอใจกับ work life balance น้อยที่สุด รวมถึงรู้สึกกดดันมากที่สุดที่จะต้องทำงานใน "ช่วงเวลาทำงานตามปกติ" และ 1 ใน 4 ระบุว่าตัวเองทำงานได้ดีที่สุดในช่วงเวลาอื่นที่ไม่ใช่เวลาทำงาน 09.00-17.00 น. 

มาถึงตอนนี้แล้ว ก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า Work Life Balance ที่เราและอีกหลายคนตามหา จะมีอยู่จริงในช่วงที่ยัง Work From Home หรือไม่



ผู้เขียน : เจ๊ดา วิภาวดี
กราฟิก : Chonticha Pinijrob, Varanya Pae-araya
ข้อมูล : adobe, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย