"อาจารย์อ๊อด" ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุ ตรวจสอบ กะโหลกบาร์โค้ด สรุปไม่ใช่กระดูก แต่มีองค์ประกอบของแร่ธาตุ ตรงกับฉนวนกันความร้อน
จากกรณีญาติของชายคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หลังการฌาปนกิจแล้ว ทำการเก็บอัฐิ ปรากฏว่า ญาติเจอกระดูกชิ้นหนึ่ง มีตัวเลขประทับอยู่ และมีเลขที่เกี่ยวข้องกับวันเกิด และวันเสียชีวิตของผู้ตายอยู่ด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าล่าสุด รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong โดยระบุว่า เฉลยแล้ว กระดูกบาร์โค้ดไม่ใช่กระดูกแต่อย่างไร อาจารย์อ๊อดต้องขอบคุณบริษัทโคแอคซ์ กรุ๊ป ที่อนุญาตให้ใช้เครื่อง กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด และวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุ (SEM/EDX)
กระดูกบาร์โค้ดมีองค์ประกอบของซิลิกอนและออกซิเจนเป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่องค์ประกอบหลักของกระดูกมนุษย์ และยืนยันด้วยเครื่องมือนี้ว่าไม่ใช่กระดูกจริงๆ
เราได้ทดสอบเทียบกับตัวกระดูกจริงอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นกระดูกของผู้วายชนม์ที่อยู่ในเตาเผาศพเดียวกัน พบว่ากระดูกอีกชิ้นหนึ่งนั้นมีองค์ประกอบหลักของแคลเซียมและออกซิเจนเป็นหลัก รวมถึงฟอสฟอรัส และมีเกลือโซเดียม ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่อยู่ในกระดูกจริงๆ
สรุปแล้วกระดูกบาร์โค้ด ไม่ใช่กระดูก แต่มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่ตรงกับไฟเบอร์กลาส หรือฉนวนกันความร้อน อย่างไรก็ตาม ขอให้ดวงวิญญาณของน้องไปสู่สัมปรายภพที่ดี และขอแสดงความเสียใจอีกครั้งกับญาติ.
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong
...