ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นปัญหาด้านสุขภาพระดับโลก และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในระดับสูงในมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ มีผู้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ดังนั้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับทีดีอาร์ไอศึกษาและประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจไทย พบว่าการระบาดของโควิด-19 มีความน่ากังวลใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะไม่สิ้นสุดลงได้โดยง่าย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจและสังคมในระลอกนี้จึงเกิดขึ้นทั้งในวงกว้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการใช้จ่ายของประชาชน ประกอบกับความล้าที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดที่ลากยาวรวมกว่า 15 เดือน ในขณะเดียวกัน มาตรการในการควบคุมการระบาดของภาครัฐก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการชะลอตัวลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการล็อกดาวน์ในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง

ดร.นณริฏกล่าวต่อว่า ดังนั้น ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มครัวเรือนเด็กเล็ก กลุ่มนักเรียนที่ออกจากสถานศึกษากลางคัน ครัวเรือนที่ประสบปัญหายากจนเรื้อรัง แรงงานนอกระบบที่มีระบบคุ้มครองด้านสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตที่จำกัด แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ที่ติดโควิด และ/หรือที่ถูกลอยแพโดยนายจ้าง ปัญหาการตกงานของบัณฑิตจบใหม่และแรงงานที่ตกงานในช่วงโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุ/คนพิการที่ต้องพึ่งพารายได้จากครอบครัว และ/หรือตกงานในช่วงโควิด และกลุ่มคนไร้บ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐควรจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในการเพิ่มกลไกการเยียวยา เพื่อให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถประคองอยู่รอดได้ในช่วงวิกฤติ

...

“กลไกความช่วยเหลือที่เหมาะสมควรจะประกอบไปด้วย กลไกระยะสั้น ได้แก่ การให้เงินอุดหนุนแบบให้เปล่ากับกลุ่มที่เปราะบางให้เหมาะสม รวมทั้งการจัดสรรวัคซีนให้ไปถึงกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ด้วย ในขณะที่กลไกในระยะยาว ภาครัฐควรวางแผนฟื้นฟูให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติ เช่น การสนับสนุนการจ้างกลับมาทำงาน การยกระดับหรือเปลี่ยนทักษะในการทำงาน เป็นต้น” ดร.นณริฏกล่าว.