แม่ค้าน้ำส้ม อ้างโทรไปถามกรมสรรพสามิต ไม่ต้องใช้ใบอนุญาต เหตุไม่เข้าข่ายโรงงาน ขณะที่ จ่าพิชิต ให้ความรู้ เหตุใดทำน้ำส้มขายต้องใช้ใบอนุญาต

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความเตือนภัย กรณีมีลูกค้าทักแชตมาสั่งน้ำส้ม 500 ขวด โดยบอกว่าจะจ่ายเป็นเงินสดและจะมารับที่ร้าน แต่ต่อมาได้มีกลุ่มคนเข้ามาตรวจสอบขอดูใบอนุญาตขายน้ำ และเสียค่าปรับไป 12,000 บาท ซ้ำโดนลูกค้าบล็อก

ล่าสุด วันที่ 16 มิถุนายน 2564 มีรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นแม่ค้าสาวรายดังกล่าว ได้โพสต์ข้อความอีกว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ โทรไปถามที่กรมสรรพสามิตมาแล้ว ไม่ต้องมีใบอนุญาตได้ค่ะ เนื่องจากเราไม่ได้ตั้งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ขายของเล็กๆ ปกติค่ะ ขอบคุณทุกออเดอร์ที่ให้ความช่วยเหลือ ขอบคุณสื่อทุกสื่อ ที่ติดต่อนะคะ แต่เราไม่สะดวก จริงๆ ที่โพสต์ลงไปเพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนตัวเองและแม่ค้าด้วยกัน ไม่ได้มีเจตนาอื่นใดใดทั้งสิ้น ใครทำอะไรไว้ขอให้ได้รับผลกรรมนั้น

ขณะที่ แฟนเพจ Drama-addict โพสต์ข้อความว่า จากประเด็นดราม่าล่อซื้อน้ำส้ม คนส่วนมากไม่ค่อยรู้ว่า น้ำส้ม เป็นเครื่องดื่มที่มีปัญหาข้อกฎหมาย อันนี้ที่มาจากหลายปีก่อนมีการตรวจเจอการผลิตน้ำส้มคั้นสดปลอมๆ คือไม่ใช่น้ำส้มคั้น 100% จริง แต่มีการผสมน้ำหรืออย่างอื่นลงไปจนสัดส่วนไม่ได้ 100% แล้วขาย

ทำให้มีการออกข้อบังคับตามมาว่า การผลิตน้ำส้มคั้นขาย การผลิตบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทแล้วส่งไปขายตามร้านค้าต่างๆ เข้าข่ายว่าเป็นโรงงาน จึงต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน และประกอบกิจการให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด คือสถานที่ผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาก็ต้องทำอย่างถูกสุขลักษณะ ระบุว่าเป็นน้ำส้มคั้นสด 100% หมายความว่า ห้ามใส่อะไรลงไปเด็ดขาด นอกจากนี้จะต้องมีฉลากแสดงชื่อสินค้า สถานที่ผลิต ส่วนประกอบ รวมถึงมีเลข 13 หลัก ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แสดงให้ผู้บริโภคทราบด้วย

...

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องภาษีความหวาน ที่เก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำผลไม้ ซึ่งอันนี้ก็มีรายละเอียดปลีกย่อย ว่าจะเก็บภาษีที่ระดับน้ำตาลเท่าไร แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องกฎหมายควบคุมการผลิตน้ำส้ม มันเป็นความผิดอาญา ถ้าเจ้าหน้าที่ได้รับการร้องเรียนมา ก็ต้องดำเนินการไปตามคดีอาญา ถ้าผู้บริโภคจะดำเนินคดีแพ่งก็เป็นอีกเรื่อง แต่ไม่ใช่ว่าจะมีการเรียกเงินค่าเสียหายเพื่อยุติการดำเนินคดีอาญา

อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งข้อสงสัยอีกว่า การล่อซื้อให้ผลิตจำนวนมากๆ ให้เข้าข่ายว่าเป็นโรงงาน ซึ่งปกติอาจจะทำขายวันหนึ่งไม่กี่ขวด ไม่ได้ผลิตเยอะขนาดนั้น.