"นพ.โอภาส" แจงแนวทางกระจายวัคซีนโควิด-19 ไปทุกจังหวัดทั่วไทย ซึ่งทุกคนจะได้รับวัคซีนตามนัดหมาย เริ่มตั้งแต่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป เผยข่าวดี เตรียมทำสัญญาสั่งจองวัคซีนกับ "ไฟเซอร์"

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า วันนี้เราได้รับมอบวัคซีนจากแอสตราเซเนกา จำนวน 1.8 ล้านโดส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย รับรองคุณภาพมาตรฐานระดับสากล จากการรับรองจาก astrazeneca headquarters 

สำหรับการกระจายวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่จะมีการฉีดวัคซีน ในวันที่ 7 มิ.ย.นี้ นพ.โอภาส ระบุว่า เป้าหมายสำคัญของการฉีดวัคซีน คือ คนในประเทศไทยทุกคน ที่สมัครใจ จะได้รับวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่าทุกคนในปี 2564 แต่ถ้าเป้าหมายของการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่า ประเทศเราจะปลอดภัย และสามารถเดินหน้าได้ต่อทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและสังคม คือ จะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50 ล้านคน ซึ่งตรงนี้ต้องช่วยกัน

ซึ่งการจัดการจะประกอบด้วย การจัดหา และกระจายวัคซีน, ความต้องการฉีด จะต้องสมดุลกัน, จุดบริการ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และการติดตามประเมินผล ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 28 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน คาดว่ามีการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 4 ล้านโดส เพราะฉะนั้น ถือว่าความต้องการฉีดของประชาชนมีมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด อย่าง กทม. ฉีดไปแล้วประมาณ 1 ล้านโดส ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรายับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน กทม. ได้ส่วนหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม มีการเตรียมแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดสในปี 2565 เผื่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ แต่ไม่ต้องห่วง ไม่ว่างบฯ ปี 2565 จะเป็นอย่างไร รัฐบาลจะได้หามาให้กระทรวงสาธารณสุข ใช้ในการจัดหาวัคซีนแน่นอน 

ขณะที่แผนจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดสในปี 2564 ตอนนี้เราได้จัดหาวัคซีน แบ่งเป็นซิโนแวค 6 ล้านโดส และมีการลงนามจัดหาวัคซีนกับบริษัทแอสตราฯ ประเทศไทยไป 61 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ส่งมาแล้ว 2 ล้านโดส เท่ากับว่า ในปีนี้ เรายังขาดวัคซีนอยู่อีก 33 ล้านโดส ซึ่งขณะนี้ นายกฯ ได้ให้นโยบายในการจัดหาเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนลงนามในสัญญาสั่งจองวัคซีน กับบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งสัปดาห์หน้าจะได้มารายงานความคืบหน้าอีกครั้ง

ส่วนวัคซีนของบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ในขั้นตอนเตรียมทำสัญญา และก็ร่างลงนามในการจองวัคซีน ซึ่งทั้งสองวัคซีนนี้ คาดว่าจะได้ทั้งหมด 25 ล้านโดส นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะซื้อวัคซีนจากซิโนแวค อีก 8 ล้านโดสเป็นอย่างน้อย ซึ่งเดือนนี้น่าจะมีข่าวดี

อีกประเด็นที่น่าจะเป็นข่าวดี คือ วัคซีนที่เราใช้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นของซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกา ทั้งสองตัวได้ผ่านการรับรองจาก คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งองค์การอนามัยโลก เป็นวัคซีนที่ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉินเหมือนกันทั่วโลก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า วัคซีนทั้งสองชนิดนี้ สามารถให้ได้ในประชาชน ตั้งแต่อายุ 18 ปี ขึ้นไป ไม่มีการจัดกัดช่วงอายุแล้ว ไม่มีความแตกต่าง ซึ่งทำให้เราสามารถจัดสรรวัคซีนได้ง่ายขึ้น

...



สำหรับการกระจายวัคซีนโควิด-19 เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉินทั่วโลกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อมีการส่งมอบ ก็จะมีการกระจายวัคซีนออกไปทันที ฉะนั้นแผนที่วางไว้ในเดือน มิ.ย. ทาง สธ. ในแนวว่า จะกระจายวัคซีนให้ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เมื่อไหร่ก็ตาม ที่ได้วัคซีนที่ผลิตในประเทศไทย ก็ให้มีการทบทวน ก่อนกระจายออกไปอย่างต่อเนื่อง

พร้อมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนแอสตราฯ ที่แต่ละจังหวัดได้รับ ซึ่งมีปริมาณน้อยว่า เป็นการกระจายวัคซีนที่ได้รับมาก่อนหน้าที่ 2 แสนโดส แต่ตอนนี้ได้มาเพิ่มอีก 1.8 ล้านโดส ฉะนั้นก็จะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ กลุ่มเป้าหมาย เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนของซิโนแวคอีก 1.5 ล้านโดส ฉะนั้นเรามีวัคซีนที่เตรียมจะฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป 3.54 ล้านโดส และอีก 2 สัปดาห์ถัดไป จะมีวัคซีนอีกอย่างน้อย 8.4 แสนโดส และในสัปดาห์ที่ 4 อีก 2.58 ล้านโดส ทั้งหมดนี้ เป็นตัวเลขที่มีการตกลงกับบริษัทเบื้องต้น อาจจะมีการเพิ่มหรือลด ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตในช่วงนั้น ฉะนั้น ภาพรวมเดือน มิ.ย. จะมีวัคซีนมากถึง 6 ล้านโดส ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข วางระบบไว้ คาดว่าจะสามารถคุมการระบาดได้ ไม่มากก็น้อย 

เกี่ยวกับการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ อย่างไรนั้น นพ.โอภาส ระบุว่า นายกฯ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ได้ตกลงกันไว้ในหลักการ ซึ่งมีการกระจายวัคซีนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. คือ 
1. แต่ละจังหวัดจะต้องมีวัคซีนทั้งแอสตราเซเนกา และซิโนแวค เพื่อบริการประชาชน เฉลี่ยเป็นพื้นฐานตามประชากรในจังหวัดนั้นๆ รวมถึงประชากรแฝงด้วย
2. จังหวัดที่มีการระบาดอย่างรุนแรง เช่น กทม. ปริมณฑล หรือเพชรบุรี ก็จะมีการจัดวัคซีนเสริม เติมเข้าไป นอกจากนี้ ยังมีแผนเพิ่มเติม สำหรับที่พบการระบาดใหม่ในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย
3. จังหวัดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เป็นจังหวัดท่องเที่ยว อย่าง ภูเก็ต ซึ่งมีการส่งวัคซีนไปฉีดค่อนข้างเยอะ ถ้าเทียบอัตราส่วนประชากรพบว่า ภูเก็ตฉีดวัคซีนเกิน 50% แล้ว เพื่อรองรับการเปิดจังหวัด รับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และชายแดนเศรษฐกิจ เช่น ชลบุรี ระยอง ตาก เป็นต้น
4. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ผู้ประกันตนสามารถทำกิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ จะได้ให้สำนักงานประกันสังคม จัดสรรวัคซีน 1 ล้านโดสไปฉีดให้กับผู้ประกันตน ในเดือน มิ.ย.นี้ 
5. ผู้ที่ลงทะเบียนในระบบ "หมอพร้อม" ยืนยันว่า ผู้ที่จองผ่านระบบหมอพร้อม ได้ฉีดแน่นอน ในวันที่ 7,8  และ 9 มิ.ย. ไม่มีการเลื่อน โดยขอให้ไปติดต่อโรงพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้
6. ในส่วนของ กทม. เราจัดสรรวัคซีนให้ไปแล้ว 1 ล้านโดส อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการจัดสรรในกลุ่มต่างๆ ไปเพิ่มเติม อาทิ กลุ่มผู้ประกันตน เพราะฉะนั้น ก็จะมีวัคซีนรวม 2 ล้านโดส
7. มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ประชุมอธิการบดี ก็มีการจัดสรรวัคซีนไป 5 แสนโดส

สำหรับจุดฉีดวัคซีน จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของแพทย์ และสถานพยาบาล รวมถึงมาตรการที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นในโรงพยาบาล หรือจุดฉีดนอกพื้นที่ ในห้างสรรพสินค้า สถานีกลางบางซื่อ ในส่วนของต่างจังหวัดมีจุดฉีดวัคซีนทั้งหมด 993 จุด ซึ่งพร้อมให้บริการในวันที่ 7 มิถุนายน ส่วนใน กทม. มีอย่างน้อย 25 จุด รวมถึงจุดฉีดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาล และเอกชน นอกจากนี้ ยังมีจุดฉีดกลางอีกประมาณ 10 แห่ง อาทิ สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์การแพทย์บางรัก ฯลฯ ขณะที่ในต่างจังหวัด ให้ติดตาม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะได้แจ้งให้ทราบ ซึ่งทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน ที่ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข กำหนด พร้อมย้ำว่า วันที่ 7 มิ.ย. วัคซีนมีพร้อม จุดฉีดมีพร้อม ก็อยากเชิญชวนประชาชนไปรับวัคซีนตามที่กำหนด.