นักวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หวั่น "ก.ม.ใหม่" ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แนะหาจุดตรงกลางเพื่อความสมดุล แท็กซี่ค้านส่ง "ข้อมูลเรียลไทม์" อาจทำค่าโดยสารพุ่ง
นายแทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เผยว่า ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายที่เกาะติดประเด็นเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคล (Privacy Rights) ตนมองว่า กฎหมายใหม่ทั้งที่กำลังจะถูกประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้ หรือกฎหมายที่มีการประกาศใช้แล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ กฎหมายลูกอื่นๆ หรือ แนวนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจส่งผลกระทบเกินความจำเป็นต่อสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล
“ประเด็นที่กำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่มีอยู่เดิมในตลาด หรือสตาร์ทอัพใหม่ๆ ต้องดูแลและรักษาข้อมูลของประชาชน หากปล่อยให้มีการนำข้อมูลใดๆ ออกไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ก็จะมีทั้งโทษทางอาญาและโทษปรับที่สูงมาก ในขณะที่ประชาชนก็ต้องอาจสูญเสียความเป็นส่วนตัวจากการขอข้อมูลจากการใช้บริการต่างๆ เพราะภาครัฐจะคอยสอดส่องพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน”
ในบางประเทศทางตะวันตกซึ่งเป็นโลกเสรี ประชาชนส่วนใหญ่จะตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างมาก จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องคดีความและตัดสินให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในอัตราที่สูงมาก ขณะที่บางประเทศที่เป็นคอมมิวนิสต์ หรือมีการปกครองแบบรวมศูนย์ ประชาชนอาจคุ้นชินกับการถูกเฝ้าจับตามองจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อแลกกับการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต หรือสิทธิพิเศษบางประการจากทางภาครัฐ (Social Credit)
...
“สำหรับประเทศไทย แม้เรื่องความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยของประชาชนจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ภาครัฐจะต้องคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนด้วยเช่นกัน เราจะต้องมาพิจารณากันว่า การยอมรับของประชาชนต่อเรื่องดังกล่าวเป็นเช่นไร เส้นมาตรฐานทางกฎหมายที่จะร่างขึ้นเพื่อสมดุลระหว่างทั้งสองเรื่องนี้ควรจะอยู่ตรงจุดไหน นั่นคือเรื่องที่สำคัญอย่างมากต่อความเป็นส่วนตัวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มข. ระบุ
นอกจากปัญหาและผลกระทบจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลภายใต้กฎหมายข้างต้นแล้ว อีกประเด็นสำคัญที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก ก็คือ การออกกฎหมายบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างการพัฒนาและเตรียมประกาศใช้ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทเจ้าของแอปพลิเคชันเรียกรถ หรือผู้ขับขี่รถจะต้องส่งข้อมูลการใช้งานของรถในลักษณะที่เป็นปัจจุบัน หรือข้อมูลเรียลไทม์ ให้กับกรมการขนส่งทางบก
“ประเด็นคือมีความจำเป็นแค่ไหน? ที่กรมการขนส่งทางบกจะต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนมากถึงระดับนี้ แต่ละวันน่าจะมีคนนั่งแท็กซี่หลายพันหลายหมื่นครั้ง หากอ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยของประชาชน ก็ควรต้องมีการสร้างกระบวนการบางอย่างเพื่อขออนุญาตในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนเพื่อเป็นการถ่วงดุลหรือไม่? เช่น จะต้องขออนุญาตจากผู้โดยสารซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเสียก่อน โดยหากมีประเด็นเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม หรือภัยต่อความมั่นคง หน่วยงานภาครัฐก็สามารถขอข้อมูลย้อนหลังได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ความรวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ อาจพิจารณาจากความรุนแรงของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นกรณีไป (case by case)”
นายแทนรัฐ ย้ำว่า การออกกฎหมายในลักษณะนี้ ไม่เพียงภาครัฐจะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้โดยสารฯ แต่ในแง่ของทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อข้อมูลจากฐานข้อมูลเอกชนไปยังรัฐบาล อาจเป็นสร้างภาระและเพิ่มค่าใช้จ่ายทั้งโดยตรงและโดยอ้อมแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของผู้บริโภค ผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบการก็ตาม
ด้าน นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับ แนวคิดของ ขบ. ในการบังคับให้ต้องส่งข้อมูลการใช้งานของรถในแบบเรียลไทม์ ทั้งนี้ อยากให้ดูตัวอย่างของประเทศที่ใช้แอปพลิเคชันในลักษณะเดียวกัน ซึ่งกำหนดให้การจัดส่งข้อมูลผู้โดยสารให้แก่ภาครัฐเพียงเดือนละครั้ง จากนี้ สมาคมฯ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมกับ ขบ. ในการพิจารณาร่างประกาศ กรมการขนส่งทางบกข้างต้น พร้อมจะใช้เวทีนี้ เรียกร้องให้ภาครัฐทบทวน แนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเป็นภาระทั้งด้านความรับผิดชอบต่อข้อมูลฯ และรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ขับขี่ฯ ซึ่งหากเกิดกรณีอาชญากรรมหรือเหตุไม่พึงประสงค์ใดๆ ก็ตาม ภาครัฐสามารถขอข้อมูลจากผู้ขับขี่เป็นรายบุคคลได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องบังคับให้จัดส่งข้อมูลการใช้งานของรถแบบทันทีแต่อย่างใด