คมนาคม ติดตามขยายผลความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. จ่อเปิดถนนเพิ่มปีนี้อีก 12 สายทาง ต่อด้วยทางหลวงชนบทอีก 6 สายทาง


วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายกำหนดความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ว่า หลังจากกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ กำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน-พยุหคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม. 50+000 เป็นเส้นทางที่ใช้ความเร็วได้ตามกฎกระทรวง

รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 64 เป็นต้นมา พบว่าสามารถดำเนินการเป็นไปได้ด้วยดี และยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการใช้เส้นทางในช่วงดังกล่าว


ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมทางหลวง (ทล.) และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) พิจารณาเส้นทางที่จะสามารถขยายผลการดำเนินการเพิ่มเติม โดยมีแผนที่จะขยายสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง ภายในปี 2564 โดยใช้งบประมาณของ ทล. จำนวน 6 สายทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงป้ายและเครื่องหมายจราจร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 ได้แก่

  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ช่วงบ่อทอง-มอจะบก จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงสนามกีฬาธูปะเตมีย์-ต่างระดับคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง10.0 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ช่วงคลองหลวงแพ่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทาง 11.0 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ช่วงบางนา- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 15.0 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงทางน้ำหนองแขม-บ้านหว้า-วังไผ่ จังหวัดนครสวรค์ ระยะทาง 25.72 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง-ไชโย-สิงห์ใต้-สิงห์เหนือ-โพนางดำออก จังหวัดอ่างทอง-สิงห์บุรี ระยะทาง 63.0 กิโลเมตร

...

ส่วนสายทางที่ดำเนินการภายในปี 2564 โดยใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) จำนวน 6 สายทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงกำแพงกั้น ติดตั้งป้าย เครื่องหมายจราจร และระบบ ITS คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่

  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ ช่วงที่ 1 จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 6.9 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ ช่วงที่ 2 จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 9.8 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทาง 24.6 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 10.0 กิโลเมตร
  • ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงหนองแค-สวนพฤษศาสตร์พุแค จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 26.0 กิโลเมตร

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า สายทางที่จะดำเนินการในระยะถัดไปโดยใช้งบเหลือจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 2 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 6.82 กิโลเมตร และ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์-หนองแค จังหวัดอยุธยา ระยะทาง 27.18 กิโลเมตร ส่วนสายทางที่จะดำเนินการในปี 65-71 อีกจำนวน 47 สายทาง โดยใช้เงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

นอกจากนั้นสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่

1. ถนนราชพฤกษ์ (นบ.3021) จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 25.2 กิโลเมตร
2. ถนนนครอินทร์ (นบ.1020) จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร
3. ถนนชัยพฤกษ์ (นบ.3030) จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 11.18 กิโลเมตร
4. ถนนข้าวหลาม (ชบ.1073) จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 4.98 กิโลเมตร
5. ถนนบูรพาพัฒน์ บ้านฉาง (รย.1035) จังหวัดระยอง ระยะทาง 7.41 กิโลเมตร
6. ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ชม.3029) จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร

สำหรับเส้นทางที่สามารถดำเนินการได้ 2 เส้นทางแรก ประกอบด้วย ถนนราชพฤกษ์ และถนนนครอินทร์ จะใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2565 และอีก 4 เส้นทางจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี 2565

สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้ ทล. และ ทช. เร่งรัดการดำเนินการขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) และการใช้เงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เพื่อให้สามารถขยายผลการดำเนินการเพิ่มเติมสายทางต่างๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และให้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้