"หมอประสิทธิ์" ยกคำเตือนของ WHO วิกฤติโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ อัตราผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีผู้ป่วยหนักจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตมีมากขึ้น และเสียชีวิตเร็วกว่าเดิม 

วันที่ 27 เมษายน 2564 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลอัปเดตสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยระบุว่า มีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงของโควิด โดยพบว่า 8 สัปดาห์ต่อเนื่องที่อุบัติการณ์เกิดโควิดเพิ่มต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอัตราการเสียชีวิตก็เพิ่มต่อเนื่อง 5 สัปดาห์เต็มๆ

องค์การอนามัยโลกเฝ้าติดตาม จนถึงจุดที่จะต้องออกมาเตือน ซึ่งขณะนี้เรามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ประมาณ 3 ล้านคน ที่ผ่านมา 1 ล้านคนแรก ใช้เวลา 9 เดือนถึงจะมีคนเสียชีวิตถึง 1 ล้านคน จากนั้นอีก 1 ล้านคน ใช้เวลา 4 เดือนเสียชีวิต ส่วนล้านที่ 3 ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งเรากำลังเจอกับอุบัติการณ์การเสียชีวิตที่เร็วขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โควิดเจอมากขึ้นในผู้ที่มีอายุน้อยลง เช่นเดียวกับในประเทศไทย พบผู้ป่วยมากในช่วงอายุ 20-29 ปี และขยายไปถึง 39 ปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เจอทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากผู้สูงอายุได้รับวัคซีน และป้องกันตัวเองด้วยการอยู่ในบ้าน ขณะที่คนหนุ่มสาวยังออกนอกบ้าน ยังไปทำงาน ก็อาจจะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ครั้งนี้ที่ออกมาเตือน เพราะไม่ใช่แค่การติดเชื้อ แต่เพราะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ขณะที่ข้อพึงระวังสำหรับประเทศไทย ขณะนี้มีการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิดที่สำคัญคือ B1.1.7 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ของสหราชอาณาจักร เมี่อเทียบกับสายพันธุ์เดิมพบว่าแพร่กระจายเร็วขึ้น เดิมพบว่าไม่เพิ่มความรุนแรง แต่รายงานล่าสุดสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่าอาจทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งสายพันธุ์นี้เข้ามาไทยแล้ว

...

ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา B1.351 พบว่าแพร่กระจายเร็ว เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม แต่ข้อมูลล่าสุดไม่เพิ่มความรุนแรง, สายพันธุ์บราซิล P.1 พบครั้งแรก ม.ค.2564 และพบได้ในญี่ปุ่น ซึ่งแพร่กระจายเร็ว เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดิม และมีหลักฐานว่าเกิดการติดเชื้อซ้ำได้

นอกจากนี้ในสหรัฐฯ มีสายพันธุ์ B.1427 และ B. 1.429 พบที่สหรัฐฯ อาจสัมพันธ์กับการแพร่ระบาดเร็ว ส่วน B.1.617 ที่พบในอินเดียยังต้องศึกษา เพราะรายละเอียดยังน้อย

ขณะที่ข้อพึงระวังของประเทศไทย ณ วันนี้โลกกลับมาสู่วิกฤติโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว เราจะสบายๆ ไม่ได้ สิ่งที่ต้องระวังในไทย คือ มีการกลายพันธุ์โควิด-19 บางสายพันธุ์เข้ามาในไทยแล้ว

และรอบนี้เราพบผู้ป่วยหนักชัดเจน อย่างศิริราชเอง คนไข้ที่เข้ามารักษา 1 ใน 4 มีภาวะปอดอักเสบแล้ว และจำนวนคนไข้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งทั่วประเทศตอนนี้ก็มีลักษณะเดียวกัน คนไข้ปอดอักเสบ และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นด้วย จะเห็นได้จากจำนวนผู้เสียชีวิต 2 หลัก ซึ่งคาดการณ์ได้เลยว่า ถ้าเรายังมีผู้ป่วยหนักแบบนี้มากขึ้น เราจะมีแนวโน้มผู้ป่วยเสียชีวิตอยู่ที่จำนวน 2 หลัก ซึ่งสัมพันธ์กับเชื้อกลายพันธุ์ และจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น รอบนี้จะเห็นคนไข้ที่เสียชีวิตมีอายุน้อยลง ดังนั้น อย่าคิดว่า อายุไม่มากไม่เสียชีวิต จึงไปสนุกสนานไม่ป้องกัน ขอย้ำว่า หลายคนที่เสียชีวิต อายุไม่เยอะ และใช้เวลาเพียง 7-10 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้หอผู้ป่วยวิกฤติ หรือไอซียูเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ต้องยอมรับว่า เราอาจจะขยายเตียงได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่จะมาดูแลผู้ป่วยหนัก ไม่สามารถเพิ่มขึ้นในเวลาอันสั้นได้ ดังนั้นเราต้องช่วยกัน

ขณะเดียวกัน ยาที่มีการใช้ในโลก พบว่ามีการแย่งยากันแล้ว ยาที่ต้องใช้ในผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อย่าง ฟาวิพิราเวียร์ ผู้ป่วยต้องได้รับอย่างรวดเร็ว จึงจะได้ผลดี.