นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้สนับสนุนการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสนาม โดยเน้นให้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการแบ่งเป็น 8 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการจัดการอาคารสถานที่ 2.ด้านสุขาภิบาลอาหาร 3.ด้านการจัดการน้ำดื่มน้ำใช้ 4.ด้านสุขาภิบาลและความปลอดภัยในการซักฟอก 5.ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล 6.ด้านการควบคุมสัตว์และแมลงพาหะนำโรค 7.ด้านการจัดการน้ำเสีย และ 8.ด้านการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ โดยการพัฒนาและปรับปรุงต่อจากระบบที่มีอยู่เดิมให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นโรงพยาบาลสนามที่สะอาด ปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อ และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ ซึ่งกรมอนามัยได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงพยาบาลสนามมาตรวจยังศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงพยาบาลสนามให้ประชาชนและชุมชนโดยรอบมีความมั่นใจในคุณภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงส่งเสริมให้ผู้ที่ถูกแยกกักตัวมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพด้วย 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกายและอารมณ์ โดยให้ความรู้การดูแลสุขภาพตนเองและการดูแลรักษาความสะอาดขณะพักรักษาตัวใน โรงพยาบาลสนามด้วย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาพด้วยหลัก 3 อ. เริ่มจาก หนึ่งคือ อ.อาหาร ผู้ปรุงประกอบอาหารในโรงพยาบาลสนาม ควรมีความรู้ในการเลือกวัตถุดิบและวิธีการปรุงประกอบอาหารให้ถูกหลัก โภชนาการ มีคุณค่าทางสารอาหาร รวมถึงการลดการใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงรสหวาน มัน เค็ม โดยการปรุงประกอบอาหารควรเลือกทำเมนูที่เสียยาก กินง่าย สองคือ อ.ออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกาย ควรลุกขึ้นมาขยับเส้นทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ด้วยการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และลุกขึ้นมาขยับร่างกาย เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต เช่น การย่ำเท้ายกเข่าอยู่กับที่ การยกส้นเท้าแตะก้น การย่ำเท้าแกว่งแขนอยู่กับที่ รวมทั้งอย่าลืมเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควบคู่กันไปด้วยการออกกำลังกายง่ายๆ เช่น การวิดพื้น การซิทอัป และสามคือ อ.อารมณ์ ต้องหากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนังออนไลน์ เล่นเกม หรือเรียนรู้สิ่งที่สนใจ อาทิ การทำอาหาร ทำงานช่าง งานฝีมือ ผ่านช่องยูทูบ เป็นต้น และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ฟื้นสภาพ รู้สึกสดชื่นแจ่มใส เป็นผลดีต่ออารมณ์และความรู้สึก.
...