ผู้รู้บอกว่าภาษาเป็นเช่นทุกสรรพสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป พูดแบบชาวบ้าน “เกิดใหม่” ได้ทุกวัน ที่ใหม่สุดเป็นภาษาผสมฝรั่งกับไทย คือคำว่า วัคซีนทางเลือก
มีคำอธิบายว่า นอกจากวัคซีนสองยี่ห้อ ที่หมอในสังกัดรัฐบาล จัดหามาฉีดให้ชาวบ้านแบบฟรีๆแล้ว ต่อไปนี้จะยอมให้หมอโรงพยาบาลเอกชน ซื้อยี่ห้อไหนก็ได้ มาให้คนมีสตางค์ ฉีดได้ตามกำลังเงิน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมว่าน่าจะใช้คำว่า วัคซีนเสรีมากกว่า
ก่อนหน้านั้นก็รู้เหมือนกัน การฉีดวัคซีน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ จำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แต่ทำไมรัฐจึงไม่ยอมให้โรงพยาบาลเอกชนหาซื้อมาฉีดคนไข้ขาประจำ ซึ่งผมได้ยินว่ามีตัวเลขชัดเจนอยู่ในมือ
คนที่ไม่นำพารัฐบาลอยู่แล้ว ได้โอกาสจับเป็นประเด็นโจมตี ซ้ำเติมข้อหาปล่อยปละละเลยสถานบันเทิง เป็นตัวการระบาดใหญ่รอบที่สาม
คำเกิดใหม่ที่ฟังกันมานานเป็นภาษาในโรงพยาบาล คือ “เตียงเต็ม” เหตุจากมีจำนวนคนไข้ที่ต้องใช้เตียงมาก เกินกว่าโรงพยาบาลจะรับได้
คำเตียงเต็ม ฟังแล้วเข้าใจ ไม่สะดุดหู เหมือนอีกคำที่ใช้กันมานานแล้วเหมือนกัน คือ “ฟังเตียง”
คอลัมน์ พูดจาภาษาหมอ “นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับเดือนเมษายน ภาษิต ประชาเวช” อธิบายว่า เรานิยมบอกขนาดโรงพยาบาลใหญ่เล็กขนาดไหน หรือมีความสามารถแค่ไหนด้วยจำนวนเตียง
เช่นโรงพยาบาลขนาด 10 เตียง และเพิ่มจำนวนไปถึง 1,000 เตียง
จำนวนเตียง เช่นโรงพยาบาล 60 เตียง ก็พอเดากันได้ ย่อมมีหมอหรือบุคลากรทางแพทย์ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และขีดความสามารถมากกว่าโรงพยาบาล 10 เตียง
เนื่องจากเตียงของโรงพยาบาลมีจำกัดเท่ากับขนาดของโรงพยาบาล จึงมักมีปัญหาเตียงไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นโรงพยาบาลที่มีคนนิยมมากๆ
...
ผู้ป่วยหนักที่เจอปัญหาเตียงเต็ม ถูกขอร้องให้ไปรักษาโรงพยาบาลอื่น ถ้าญาติและผู้ป่วยไม่เข้าใจ ก็มักว่าหมอใจไม้ไส้ระกำ รุนแรงถึงขั้นด่าโรงพยาบาล เป็นโรงฆ่าสัตว์ไปก็มี
ทำไมไม่หาเตียงเสริม เหมือนเก้าอี้เสริมในโรงหนัง ข้อนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เช่นโรงพยาบาลที่อยู่ไกล คมนาคมไม่สะดวกโรงพยาบาลก็จะไม่เสริมเตียงให้ เพราะไม่ใช่เพียงแต่เพิ่มเตียงแต่ต้องเพิ่มคน อุปกรณ์รักษาพยาบาลด้วย
สถานการณ์เตียงเต็ม เมื่อหมอวินิจฉัยว่าคนไข้ต้องรับไว้ผ่าตัด แต่เป็นโรคที่รอได้ เช่นไส้เลื่อน ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดขอดที่ขา ตาเป็นต้อกระจก ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง หมอก็มักให้ใบนัดฟังเตียง
หมายความว่า ให้มาฟังหรือติดตามว่ามีเตียงว่างหรือยัง
และอีกคำ ที่เพิ่งหลุดจากปาก นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา “สถานที่อโคจร” คำนี้เป็นภาษาเก่าถึงสมัยพุทธกาล ความหมายถึงการเที่ยวไปอย่างไม่สมควรของพระภิกษุ คลุกคลีกับผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมืองกับคฤหัสถ์ คบหาตระกูลที่ไม่มีศรัทธา มักด่าว่าเสียดสีบริษัท 4
ไม่สำรวมเดินไปในละแวกบ้าน ไม่สำรวมตา สำรวมหู ดูการฟ้อนรำ ขับร้อง แข่งม้า ชนไก่
อโคจรของพระ ระบุชัด ที่อยู่ของหญิงขายบริการ หญิงหม้าย ภิกษุณี สาวเทื้อ กะเทย ร้านสุรา และยังรวมไปถึงสถานเริงรมย์ บ่อนการพนัน
เท่าที่ผมฟัง นายกฯประยุทธ์ ท่านหลุดคำอโคจร ตั้งใจเตือนชาวบ้าน...แต่ท่านคงลืมเตือนคนใกล้ๆตัว เช่น รัฐมนตรีที่นั่งประชุมอยู่ด้วยกัน
คนมีฐานะเป็นรัฐมนตรี ไปคลุกอยู่ในคลับในบาร์ ก็ไม่สมควรเหมือนพระนั่นล่ะครับ
พระไปสถานที่อโคจร ความผิดเรียกโลกวัชชะ แปลว่า โลกติเตียน รัฐมนตรีเจอโลกติเตียนไปเต็มๆแล้ว แต่ยังมีข้อหาผิดจริยธรรม ผมก็ลืมไปแล้ว ความผิดข้อนี้ ถึงขั้นจะถูกปรับออกหรือไม่?
กิเลน ประลองเชิง