ประเทศที่ประชาชนมีภาวะความกินดีอยู่ดี มีสุขอนามัยที่ดี มีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ไม่มีโรคระบาดร้ายแรง หรือหากมีก็สามารถที่จะควบคุมได้ คือ ประเทศที่มี “ความมั่นคงทางสุขภาพ”
จากรายงานดัชนีความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลก หรือ Global Health Security (GHS) Index 2019 ชี้ว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางสุขภาพ (Health security) เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นประเทศกำลังพัฒนาเพียงประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ Top 10 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ในเอเชีย
ดัชนีชี้วัดดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการรับมือในภาวะวิกฤติโรคระบาดในระดับต้นๆ ของโลก สอดคล้องกับความสำเร็จในการจัดการกับการแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยัง “ต้องการ” และ “มีความสามารถ” ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงทางสุขภาพได้อีกมาก ซึ่งหมายถึง การมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน ที่จะส่งผลโดยตรงต่อระบบสังคมและการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ไทยรัฐได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารจากสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) องค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการประสานและสนับสนุนเพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านสุขภาพต่างๆ ในประเทศไทย นำโดย ดร.นรา เดชะรินทร์ นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) และ นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ทั้งสองท่านได้ย้ำถึงพันธกิจและทิศทางการดำเนินงานของพรีม่าในการสร้างความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทยว่า จะผลักดันไปสู่ขั้นที่เหนือกว่าได้อย่างไร โดยในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการดำเนินงานของพรีม่าในประเทศไทย ได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการ “50 Years of Health Innovation: Partnership for Regional Health Security” เพื่อจุดประกายให้ทุกภาคส่วนผสานความร่วมมือกัน ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพให้กับประเทศไทย
ความมั่นคงทางสุขภาพส่งพลังขับเคลื่อนประเทศไทย
นพ.ทวิราป กล่าวว่า ความมั่นคงทางสุขภาพมีผลต่อระบบสุขภาพ ระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแยกจากกันไม่ออก เนื่องจากหากประชาชนมีสุขภาพที่ดีแล้ว ก็พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคมและต่อครอบครัว และประกอบอาชีพได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ เมื่อสังคมดี เศรษฐกิจดี ประเทศชาติก็จะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง การสร้างสุขภาวะที่ดี รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้ผู้คนเกิดความเจ็บป่วย และประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบัน ประเทศไทยถือว่ามีความมั่นคงทางด้านสุขภาพที่ดีในระดับหนึ่ง เนื่องด้วยเรามีระบบประกันสุขภาพที่ดี ซึ่งประกอบด้วย ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพและยังมีระบบการติดตามและควบคุมโรคที่แข็งแกร่ง การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับปัญหาได้ดีโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน แสดงถึงระดับความมั่นคงทางด้านสุขภาพที่ดี แต่ก็ต้องเสริมสร้างให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
3 องค์ประกอบสำคัญของความมั่นคงทางสุขภาพ
เราจะประเมินภาวะความมั่นคงทางสุขภาพได้อย่างไร ในเรื่องนี้ นพ.ทวิราป ชี้ว่า ต้องอาศัย 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่
องค์ประกอบที่ 1 Financing การบริหารการเงินการคลังด้านสุขภาพ หมายถึง การมีแผนงบประมาณเพื่อใช้ในการป้องกันโรค โดยผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบ และให้การสนับสนุนองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีแผนงบประมาณสำหรับการรักษาโรคผ่านระบบประกันสุขภาพต่างๆ
องค์ประกอบที่ 2 Access การเข้าถึงการให้บริการด้านสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้อย่างทั่วถึง
องค์ประกอบที่ 3 Coverage ความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการรักษา ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยนวัตกรรมด้านสุขภาพในการสร้างสรรค์และพัฒนา
มุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพ
ดร.นรา ให้ความเห็นว่า นวัตกรรรมด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายา วัคซีนนวัตกรรม และเครื่องมือทางการแพทย์ อาทิ การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ กระบวนการรักษา และระบบติดตามโรคที่ทันสมัย จะทำให้อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่างๆ ลดลง อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ การได้มาซึ่งนวัตกรรมด้านสุขภาพ ต้องเริ่มจากกระบวนการวิจัยและพัฒนา เราจึงควรให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเรื่องนี้ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเป็นต้นน้ำของการทำงานวิจัยได้ เราจะสามารถผลิตยาและวัคซีนที่มีคุณภาพ และสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านสุขภาพอื่นๆ ได้อีกมาก
บทบาทของพรีม่าในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทย
50 ปีที่ผ่านมา พรีม่าซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นบริษัทผู้วิจัยและพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรมต่างๆ มุ่งให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมยาและวัคซีนใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงพยายามผลักดันให้ผู้ป่วยเข้าถึงนวัตกรรมเหล่านี้ให้ได้ โดยผ่านโครงการ Patient Access Program ที่อาศัยความร่วมมือจากสมาชิก
นอกจากนี้ พรีม่ายังผสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพ การผลักดันการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนายา การสร้างวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ทันสมัย บนพื้นฐานความคิดที่ยึดถือผลประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับขั้นตอนของการประเมินความต้องการ (Needs Analysis) ซึ่งทุกภาคส่วนควรทำร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่เร่งด่วน และเตรียมพร้อมสำหรับความต้องการในอนาคตของระบบสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาพรีม่าได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านนี้ในหลายมิติ เช่น การผสานความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อสนับสนุนให้เกิดวิจัยทางด้านคลินิกต่างๆ ร่วมกับภาครัฐและสถาบันการศึกษา และการส่งต่อองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมสุขภาพใหม่ๆ สู่บุคลากรทางการแพทย์ผ่านเวทีประชุมสัมมนาทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ครบรอบ 50 ปีของพรีม่า การสัมมนา “50 Years of Health Innovation: Partnership for Regional Health Security” กับก้าวต่อไปในการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย
การจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจุดประกายและขยายกรอบความคิดร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสุขภาพของคนไทย ซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาแนวทางที่จะนำประเทศไปสู่ระบบสุขภาพที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) บริษัท KPMG’s Healthcare & Life Science Practice และสถาบันวิจัยทางคลินิก ประเทศสิงคโปร์ (Consortium for Clinical Research and Innovation Singapore) โดยมีหัวข้อสำคัญในการพูดคุยครอบคลุมถึงการที่ประเทศไทยจะรับมือกับความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างไร ในยุคที่โลกเชื่อมต่อถึงกัน นวัตกรรมด้านสุขภาพช่วยสร้างคุณค่าให้กับประเทศได้อย่างไร ความยั่งยืนทางการเงินในยุคสังคมผู้สูงวัย และการสร้างพันธมิตรเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพในระดับภูมิภาค
สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากหน่วยงานผู้กำกับดูแลนโยบาย สถาบันวิจัยต่างๆ สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการและภาคเอกชน ในการร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในระบบสุขภาพให้เกิดขึ้น เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย นำไปสู่ความมั่นคงทางสุขภาพ และเป็นผลต่อเนื่องที่จะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคม และความมั่นคงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
งานสัมมนาจะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564 เวลา 13.00 – 17.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนาแบบออนไลน์ได้ที่ https://prema-event.com/attend/50year/
(QR code เพื่อลงทะเบียนร่วมงาน)