อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประกาศผลงานขานรับนโยบาย รมว.มหาดไทย พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี เดินหน้าต่อเนื่องงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมออกมาตรการขยายเวลาพักชำระหนี้บรรเทาความเดือดร้อนโควิด-19

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ในระยะแรกได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการ ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 ให้โอนย้ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มาอยู่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2559 ให้ควบรวมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้ากับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2559 ทำให้การบริหารงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน ตั้งแต่บัดนั้น

ทั้งนี้ หัวใจของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมบทบาทศักยภาพสตรี รวมถึงเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมให้สตรีเกิดอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ประกอบกับการปรับนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แก่สมาชิกจากร้อยละ 3 เหลือเพียงอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปี โดยสนับสนุนงบประมาณไม่เกิน 200,000 บาท เพื่อช่วยเหลือสตรีให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง และยังสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ในการนี้ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 2 ประเภท คือ 1. ประเภทบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสมาชิกมากถึง 14,500,181 คน และ 2. ประเภทองค์กรสตรี มีจำนวน 64,975 องค์กร (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2564) จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 2,142,067,976 บาท แยกเป็นงบบริหาร 359,067,976 บาท งบเงินอุดหนุน 305,000,000 บาท และงบเงินทุนหมุนเวียน 1,478,000,000 บาท จากการสนับสนุนเงินอุดหนุน เพื่อพัฒนาศักยภาพและแก้ไขปัญหาความต้องการของสตรี พบว่ามี 4,327 โครงการ งบประมาณ 212,138,313 บาท มีผู้ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 346,160 กลุ่ม และเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่กลุ่มสตรี มีจำนวน 11,074 โครงการ งบประมาณ 1,560,449,658 บาท มีผู้ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 33,222 ราย จากการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าว ทำให้สมาชิกกลุ่มสตรีมีรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ตนเองเป็นจำนวนมาก พบว่า มีรายได้จำนวนทั้งสิ้น 8,888 กลุ่ม โดยแต่ละคนมีรายได้ประมาณ 3,780 บาท/คน/เดือน เช่น กลุ่มจักสานเส้นกกบ้านเหล่าพัฒนา จังหวัดนครพนม ซึ่งขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินทุนหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2556 จำนวน 31,600 บาท ปรากฏว่าก่อให้เกิดรายได้ให้แก่กลุ่ม สร้างอาชีพให้แก่สมาชิก จนทำให้สมาชิกมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 159 คน ก่อให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิก มากถึง 6,500 บาท/เดือน

...

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ยังได้ฝากถึงมาตรการพักชำระหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระลอกใหม่ โดยพักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 12 เดือน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 2019) ระลอกใหม่ ซึ่งออกมาตรการฉบับที่ 1 ประกาศ เรื่อง มาตรการชั่วคราว พักชำระหนี้ ให้แก่สมาชิกลูกหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ลงวันที่ 1 เม.ย. 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ อีกทั้งการจะทำให้กลุ่มสตรีมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติเช่นนี้ โดยมีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการในครั้งนี้ จำนวน 13,147 โครงการ เป็นเงิน 1,260,632,578.49 บาท และฉบับที่ 2 โดยกำหนดห้วงตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 31 ก.ค. 2564 ทำให้ขณะนี้มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการ ฉบับที่ 2 จำนวน 1,025 โครงการ เป็นเงิน 104,255,543.14 บาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องสตรีที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีการสนองนโยบายของภาครัฐต่อการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ประชาชน ให้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างมั่นคงและสมดุล ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในเรื่องของบทบาทสตรี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีความเจริญก้าวหน้า ผ่านวิกฤติปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดขึ้น อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้รับนโยบายจากรัฐบาลมุ่งเน้นช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาของสตรีไทย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสตรี ยกตัวอย่าง เช่น

1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพคณะทำงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบล/เทศบาล/เทศบาลเมืองพัทยา และอาสาสมัครผู้ประสานงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 92,881 คน ภายหลังจากการเข้าร่วมโครงการทำให้คณะทำงานเกิดความรู้ความเข้าใจการดำเนินงาน/ระเบียบของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมากยิ่งขึ้น และสามารถสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเขียนโครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้แก่สมาชิกในชุมชนทราบ เพื่อสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง

2. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพคณะทำงานเครือข่ายอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับภาค/ระดับประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 382 คน ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการทำให้สร้างเครือข่ายอาชีพในชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มอาชีพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีอาชีพที่มั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเกิดการแลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน

3. โครงการเสริมทักษะอาชีพสตรีเพื่อการบริหารจัดการหนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8,070 คน ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการ ทำให้สมาชิกสามารถบริหารจัดการเงินทุน บริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. โครงการส่งเสริมช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่มอาชีพสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 4,210 กลุ่ม ซึ่งผลจากการเข้าร่วมโครงการทำให้สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

“จากการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของสตรี สร้างพลังสตรีให้เข้มแข็ง พร้อมทั้งได้เน้นย้ำการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือสตรีทุกท่านให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ แก่สมาชิกทุกท่าน พัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีได้อย่างยั่งยืน”.