ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผอ.ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ไบโอเทคให้ความสำคัญกับงานวิจัยทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยในด้านเกษตรกรรม เน้นการนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจสำคัญอย่างข้าว เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร เช่น ข้าวเหนียวพันธุ์หอมนาคา ข้าวเจ้าพันธุ์หอมจินดา ข้าวเจ้าพันธุ์ธัญญา 6401 รวมทั้งมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการปลูก ทดสอบในแปลงและประเมินความพึงพอใจ ร่วมกับเกษตรกร ซึ่งเป็นโมเดลการทำงานที่เปิดโอกาส ให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมใน การคัดเลือกข้าวพันธุ์ดีที่เหมาะสม เพื่อนำไปขยายผลการปลูกในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงพันธุ์มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ คือ พันธุ์แดงโกเมน และพันธุ์ซันไชน์ ซึ่งเป็นมะเขือเทศเชอรี่ หวานกรอบ ผลดก ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ให้ผลผลิตสูง ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเรียบร้อยแล้ว
ดร.วรรณพกล่าวต่อว่า ด้านอุตสาหกรรม อาหาร ไบโอเทคร่วมกับภาคเอกชน ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ภาคเอกชนมากมาย อาทิ ผลิตภัณฑ์ eLysozyme ชนิดใหม่สำหรับอุตสาห-กรรมอาหารกุ้ง ทำงานร่วมกับบริษัทโอโว่ ฟู้ดเทค จำกัด และบริษัท ดีเอ็มเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตภัณฑ์เบตากลูแคนและยีสต์โพรไบโอติกสำหรับปศุสัตว์ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัทเอเชียสตาร์ เทรด จำกัด เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 180 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ตลอดจนลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก.