นายพรพล เอกอรรถพร ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT กล่าวว่า ในปี 2564 ได้ส่งเสริม และให้ความสำคัญต่อการสืบสานงานหัตถกรรมไทย โดยใช้การมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ เพื่อนำมุมมองใหม่ๆ เข้ามาพัฒนางานศิลปหัตถกรรมไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน อีกทั้งต้องการจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้เกิดผู้ประกอบการยุคใหม่ กลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ด้านงานคราฟท์ นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ในชุมชน โดยเตรียมจัด 2 กิจกรรมใหญ่คือ การประกวดผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen ให้มีการสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงให้เห็นถึงการต่อยอดคุณค่าของผ้าศิลปาชีพ หรือ ผ้าไทยทอมือประเภทต่างๆ ผ่านการประกวดผลงานการออกแบบแฟชั่น และนำไปสู่การเชื่อมโยงผลงานสู่ภาคอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งในระดับประเทศและระดับสากล

ผอ.ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการตลาดเชิงรุก SACICT Concept มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดทางการตลาด มีวิธีการนำเสนอในรูปแบบ Reality Show ให้นักศึกษาแข่งขันการพัฒนา การออกแบบและผลิตต้นแบบงานศิลปหัตถกรรมประเภท เครื่องจักสานให้มีความร่วมสมัย โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งจะผลักดันให้มีการยกระดับผลิตภัณฑ์งานศิลปหัตถกรรมไทยให้มีมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งในประเทศ และผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ.