ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ผช.อธิการบดีงานด้านสื่อสารองค์กร บริหารแบรนด์ และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของครอบครัวของนิสิตจุฬาฯมีนโยบายช่วยเหลือนิสิต โดยระยะสั้น คือ ภาคปลาย ปีการศึกษา 2563 ดำเนินนโยบาย “10 พลัส พลัส” โดยคงนโยบายการลดค่าเล่าเรียนลงร้อยละ 10 เช่นเดิม, ให้ทุนการศึกษา ทุนนิสิตช่วยงานทุนสงเคราะห์สวัสดิภาพนิสิต ซิมอินเตอร์เน็ตฟรี ยืมคอมพิวเตอร์

สำหรับนิสิตที่อยู่หอพักจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมเดือน ม.ค.-ก.พ. หรือ มี.ค.แล้วแต่สถานการณ์ ทำประกันโควิดให้นิสิตทุกคนจำนวน 37,000 คน ซึ่งยืนยันจุฬาฯมีงบฯเพียงพอที่จะให้ทุนนิสิต เพราะคาดการณ์ไว้ว่าสถานการณ์ระลอกใหม่รุนแรงกว่าเดิม สำหรับระยะกลางได้ดำเนินการพัฒนาระบบและเครื่องมือเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และการสอบ โดยพัฒนาห้องเรียนออนไลน์ให้มีบรรยากาศและประสิทธิภาพเทียบเท่าห้องเรียนปกติ โดยผู้เรียนสามารถตอบโต้กับอาจารย์ผู้สอนได้ ส่วนการสอบจะมีการพัฒนาโปรแกรมการสอบที่มีกลไกที่จะตรวจดูพฤติกรรมนิสิตเวลาสอบได้ สำหรับระยะยาว จุฬาฯมีการช่วยเหลือเยียวยาสภาพจิตใจของนิสิตและอาจารย์ไม่ให้เกิดความเครียด มีการเปิดสายด่วนให้คำปรึกษา เพื่อให้นิสิตสามารถเรียนออนไลน์ และเตรียมตัวเข้าสู่โลกการทำงานในลักษณะออนไลน์ในอนาคต

ต่อข้อถามถึงข้อเรียกร้องของนิสิตให้มหาวิทยาลัยลดค่าเล่าเรียนลงร้อยละ 50 นั้น ผศ.ดร.เอกก์กล่าวว่า ความจริงแล้วภาพรวมค่าใช้จ่ายของนิสิตแต่ละคน นิสิตออกค่าใช้จ่ายเองไม่ถึงร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยและรัฐ โดยจุฬาฯยึดหลักว่า นิสิตทุกคนต้องได้เรียน หากมีปัญหาทางการเงินก็จะดูแลช่วยเหลือ.

...